วันที่ 4 พ.ค. 2564 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุคส่วนตัว เพื่อแสดงความคิดเห็นกรณีการบินไทย โดยระบุว่า อาจมีการประชุมครม.เร็วๆ นี้ว่าด้วยเรื่อง "การบินไทย" จึงขอเปิดพื้นที่แสดงความคิด และขอความเห็นที่สร้างสรรค์ เพราะเป็นเรื่องของ ภาษี 5 หมื่นล้านกับการตัดสินใจกับการตัดสินใจครั้งใหญ่
นายกรณ์ กล่าวว่า ตอนที่รัฐบาลตัดสินใจนำการบินไทยเข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูตามพรบ. ล้มละลาย หลายคนที่ติดตามเรื่องนี้ล้วนเห็นด้วย ด้วยความหวังว่าเมื่อผ่านกระบวนการฟื้นฟูแล้ว การบินไทยจะบริหารแบบมืออาชีพ มีกำไร มีการเงินที่มั่นคง และที่สำคัญคือ มีสภาพเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ปลดแอกจากการแทรกแซงโดยรัฐ โดยนักการเมือง และโดยกองทัพเหมือนที่ผ่านมา ต้องบอกว่าผิดหวัง
เมื่อเห็น 2 ทางเลือกที่ เสนอให้รัฐบาล คือ 1. ให้รัฐใส่ทุนด้วยเงินภาษี (อีกแล้ว) 25,000 ล้านบาท และค้ำประกันหนี้ใหม่ อีก 25,000 ล้านบาท รวม 50,000 ล้านบาท และ 2. หากรัฐไม่ใส่ทุนก็ต้องค้ำประกันหนี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งรัฐค้ำด้วยเงินของรัฐ ก็หมายความว่าการบินไทยต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ หากบริษัทไปได้ดี มีกำไรในอนาคต รัฐแทบไม่มีโอกาสได้ส่วนแบ่ง เพราะต้องคืนเจ้าหนี้เก่า ในขณะที่เจ้าหนี้ใหม่ สามารถเปลี่ยนหนี้มาเป็นทุนได้สูงถึง 90% ของทุนทั้งหมด สิ่งที่ควรได้เห็นแต่ผู้เสนอแผนไม่ได้ทำ คือ การยืนยันกับเจ้าหนี้เพื่อลดหนี้เดิม ซึ่งหนี้ที่ไม่ได้ลดลงคือสาเหตุหลักที่ทำให้การบินไทยไม่สามารถระดมทุนจากนักลงทุนใหม่ได้เลย ต้องกลับมาขอเงินรัฐ ก็คือเงินภาษีของประชาชน
“จริงๆ แล้วครั้งนี้ การบินไทยมีโอกาสที่จะรอดมากที่สุด เพราะมีการปรับลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงาน (พนักงานมีทั้งเสียสละลาออก ทั้งยอมลดเงินเดือนตัวเอง) ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมันหรือค่าการตลาดลงโดยรวมถึงเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี แต่ด้วยโครงสร้างหนี้จึงทำให้ไม่มีใครพร้อมใส่ทุน ดังนั้นรัฐบาลต้องมีคำตอบว่าการอุ้มการบินไทยรอบใหม่นี้ คนเสียภาษีได้อะไร ถ้าไม่อุ้มล่ะ ถ้าเจ้าหนี้ยอมที่จะปล่อยให้บริษัทต้องล้มละลาย (ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหนี้อาจจะได้เงินคืนเพียง 10% ของวงเงินสินเชื่อเดิม) จะส่งผลยังไงต่อประชาชนคนไทย” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว
อดีตรมว.คลัง กล่าวด้วยว่า เราสามารถสร้างบริษัทการบินไทยขึ้นมาใหม่ ด้วยโครงสร้างองค์กร โครงสร้างทุนและการบริหารที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ มีคำถามอีกมากมายที่ตนคิดว่าคนไทยที่เสียภาษีไปอุ้มการบินไทยรอบแล้วรอบเล่าควรได้รับคำตอบที่ตรงไปตรงมาโดยสรุปผมมองว่า
"รัฐบาลต้องยืนยันว่าจะไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือราชการเข้าไปครอบงำการบินไทยอีก" นี่คือโจทย์สำคัญ รัฐต้องยืนกรานว่าเจ้าหนี้เดิมต้องรับสภาพตามสถานะที่แท้จริงของบริษัท หากรัฐต้องใส่เงินเพิ่ม ต้องมีเงินจากนักลงทุนเอกชนในสัดส่วนที่มากกว่า ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดกับเจ้าหนี้บางประเภทเช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ควรมีมาตรการต่างหากที่จะเยียวยาตามความจำเป็น ครั้งนี้เรามีโอกาสที่จะฟื้นฟูการบินไทยและปลดแอกจากทุกภาระที่หนักอึ้ง อย่าใช้เงินภาษีประชาชนเพียงเพื่อรักษาองค์กรไว้ในรูปแบบเดิม
หากรัฐไม่เจรจาเงื่อนไขที่ดีกว่านี้ เราเอาเงิน 50,000 ล้านไปทำประโยชน์เรื่องอื่นดีกว่า ไม่ว่าจะช่วย SME ให้รอดจากพิษเศรษฐกิจโควิด หรือแม้แต่เอาไปเร่งเยียวยาประชาชนในรูปแบบต่างๆ ยามวิกฤตเช่นนี้