ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.) สั่ง ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศบค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ดังกล่าวประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และการสาธารณสุขจำนวน 14 คน เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ความเห็น และข้อเสนอแนะทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสาธารณสุข และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19
"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบข้อมูลและประวัติของ คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ของศบค. ทั้ง 14 คน ดังนี้
1.ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ของศบค.
อายุ 73 ปี เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงพ.ศ. 2558 - 2562 แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด 19 พลเอกประยุทธ์ก็ยังเชื่อมือ เชิญมาร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ของศบค.
แต่หากเอ่ยชื่อของนายแพทย์ ปิยะสกลในวงการแพทย์ ถือเป็นทั้งแพทย์และนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ ปัจจุบันอีกตำแหน่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และตำแหน่งอื่นอีกมากมาย
เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเข้ารับตำแหน่งในปีแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดลออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ช่วงวันที่ 9 ธันวาคม 2550 - 8 ธันวาคม 2554 มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการนำมหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งสู่การติดอันดับ 1 ใน 100 ของมหาวิทยาลัยโลก
เป็นคณบดีคนที่ 15 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ต่อเนื่อง 2 สมัย (พ.ศ. 2543 - 2550)
ได้ถวายงานเป็นแพทย์อาสาตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นระยะเวลากว่า 26 ปี
2.ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ อุดม คชินทร รองประธานฯ
เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ช่วง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์เช่นเดียวกัน และเป็นหนึ่งในกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
ปัจจุบัน อายุ 66 ปี เป็นสมาชิกวุฒิสภา ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุข อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
เป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย thailand 4.0ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 194/2560
เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2560
เป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3.ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา กรรมการฯ
ปัจจุบัน อายุ 64 ปี เป็นคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยได้รับรางวัลพนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รางวัลผู้ประกอบคุณงามความดี โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า และเป็นประโยชน์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า รางวัลบุคลากรดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เมื่อครั้งวันที่ 26 ต.ค. 60 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีบุคคลสำคัญ 2 ท่านที่ทำหน้าที่ประคองพระบรมโกศ คือ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา และ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิณ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งเป็นผู้ถวายงานเข็นพระเก้าอี้เลื่อนทุกครั้ง
ซึ่งคุณหมอประสิทธิ์เป็นผู้ถวายการดูแลในหลวง ร.9 ตอนที่พระองค์ทรงพักรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราช ถือเป็นบุคคลใกล้ชิด จึงได้รับเกียรติสูงสุดในครั้งนั้น
4.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ กรรมการฯ
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน กุมารเวช ( โรคระบบต่อมไร้ท่อ )
เมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา คุณหมอสุทธิพงศ์ บริหารจนทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ได้ครองอันดับ 1 ขององค์กรในกลุ่มโรงพยาบาล จากผลสำรวจ “Thailand’s Most Admired Company 2019” หรือสุดยอดองค์กรครองใจผู้บริโภค และตั้งเป้าว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรชั้นนำระดับเอเชีย เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการก้าวขึ้นสู่ระดับโลก
5.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะมิตร ศรีธรา กรรมการ
ปัจจุบัน เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นกรรมการอิสระ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดกรรมการ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด
เคยเป็นหัวหน้าคลัสเตอร์วิจัยหัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการการสอบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ แพทยสภา เคยเป็นประธานวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เคยรับรางวัลเมื่อปี 2548 แพทย์ดีเด่นด้านวิชาการของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
6. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อนันต์ ศรีเกียรติขจร กรรมการ
เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) นับเป็นแพทย์ที่มีพัฒนานวัตกรรมทางด้านการแพทย์สอดรับกับทิศทางของสจล.
ผลงานที่ผ่านมาคือโครงการวิจัย "นวัตกรรมระบบ AI สำหรับการคัดกรองโรคและการประยุกต์ใช้สำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน" (AI Assistive Platform for Emergency Medical Services : AIEMS) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ต่อยอดมาจากโครงการระบบไฟจราจรอัฉริยะสำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (iAmbulance) ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมระดับโลกต่างๆ ได้แก่ รางวัลเหรียญทองแดง และรางวัล Special prize จากประเทศเกาหลี ในงานแสดงนวัตกรรม Genneva Ionovation และรางวัล Special prize จากประเทศโรมาเนีย ในงานวันนักประดิษฐ์ที่จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
นพ.อนันต์ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ว่าแพทย์ของสจล, ต้องมีความสามารถในการเป็นแพทย์ คือ มีความสามารถด้านการวิจัย คิดวิเคราะห์ สร้างนวัตกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือมีทักษะเพื่อการเป็นแพทย์ในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความรู้รอบตัวและหลากหลาย
7. ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิง จิรายุ เอื้อวรากุล กรรมการ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่วนตำแหน่งวิชาการปัจจุบัน เป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์สมทบประจำมหาวิทยาลัย Duke ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์
อดีตเป็นกรรมการบริหารและกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อดีตรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตคณะกรรมการการศึกษาต่อเนื่อง แพทยสภา
รางวัลที่เคยได้รับ อาทิ ทุนส่งเสริมบัณฑิต มูลนิธิอานันทมหิดล รางวัลบุคลากรดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ดีเด่น (ได้รับ 2 ครั้ง) รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ได้รับ 2 ครั้ง) ผลงานตำราที่ได้รับรางวัล ตำราเรื่อง “มะเร็งเม็ดเลือดขาว: การวินิจฉัยระดับเซลล์และโมเลกุล”
8. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ไพโรจน์ จงบัญญัติเจริญ กรรมการ
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความเชี่ยวชาญ ด้านกุมารเวชศาสตร์ และเป็นคณะกรรมการอำนวยการ กลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย 2564
9. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดิลก ภิยโยทัย กรรมการ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หัวใจและหลอดเลือด อายุรกรรมทั่วไป
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิลก ภิยโยทัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ด้านบริหาร อาทิ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ส่วนด้านวิชาชีพเคยดำรงตำแหน่ง อุปนายกสมาคมแพทย์ มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเคยได้รับรางวัลด้านต่างๆ อาทิ รางวัลบุคลากรดีเด่น อาจารย์แพทย์ขวัญใจบุคลากรทางการพยาบาล รางวัลอาจารย์แพทย์ผู้ประพฤติตนดีเด่น ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม แพทยสภา รางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ จักราวุธ มณีฤทธิ์ กรรมการ
เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564
11. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ กรรมการ
อธิการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี
12. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ กรรมการ
คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ประวัติการทำงาน เคยเป็นกุมารแพทย์ รพ.ระนอง แพทย์ประจำบ้าน สาขากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี แพทย์ประจำ โรงพยาบาลระนอง และอาจารย์แพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ รามาธิบดี
การศึกษา จบแพทยศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2528 การศึกษาหลังปริญญา ได้แก่ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้ในเด็ก, ภูมิคุ้มกันวิทยา, Standford University, ประเทศสหรัฐอเมริกา, 2539-2541
แขนงที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ ได้แก่ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้ในเด็ก, ภูมิคุ้มกันวิทยา, Standford University, ประเทศสหรัฐ อเมริกา, 2539-2541 และแขนงที่สนใจเป็นพิเศษ โรคหืด และปฏิกิริยาภูมิแพ้ของเยื่อผิวในจมูก
13. พลตรี สุรศักดิ์ ถนัดศีลธรรม กรรมการ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อดีตผู้อานวยการโรงพยาบาลค่ายสุรนารี จบการศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต, วิทยาลัยแพทยศาสตรพระมงกุฎเกล้า, มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตร สาขาวิสัญญีวิทยา, ประเทศไทย
ในทางทหาร ชั้นนายพันเหล่าแพทย์ รุ่น 38 วิทยาลัยการทัพบกรุ่น 54 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 57
14. พันเอก นายแพทย์ ภูษิต เฟื่องฟู กรรมการและเลขานุการ
หน่วยอาชีวเวชศาสตร์ กองตรวจโรคผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การศึกษา อว.เวชศาสตร์ป้องกันแขนงอาชีวเวชศาสตร์ วว.เวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วว.สาขาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และแพทยศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า รุ่นที่ 12
ประวัติการทำงาน เคยเป็นศัลยกรรม โรงพยาบาลเมืองสมุทรฯ ศัลยกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ศัลยกรรม โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ศัลยกรรม โรงพยาบาลอนันทมหิดล พบ., วว.สาขาศัลยศาสตร์ วว.เวชบำบัดวิกฤต
อ่านรายละเอียด คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :