การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เคย “ล่ม” มาแล้วครั้งหนึ่ง จะมีการเดินหน้าพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งในสมัยประชุมสภานี้ โดยกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 22-24 มิ.ย. 2564
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณากฎหมายที่ค้างวาระ ทั้งพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพ.ร.บ.ยาเสพติด จะกำหนดประชุม 3 วัน ระหว่างวันที่ 22-24 มิ.ย.นี้ โดยในวันที่ 22 มิ.ย. กำหนดให้พิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในวาระการประชุม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติและ พ.ร.บ.ยาเสพติด
จากนั้นในวันที่ 23 มิ.ย.จะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำเรื่องนี้มาไว้ช่วงหลังการประชุม เพราะเผื่อเวลาให้แต่ละฝ่ายเตรียมความพร้อมและตรวจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องให้เสียเวลา อีกทั้งหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ก็ยังสามารถพิจารณาในวันที่ 24 มิ.ย.ต่อได้
นายชวน กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลพยายามเสนอญัตติการแก้รัฐธรรมนูญก่อนว่า ประธานจะเป็นผู้จัดวาระการประชุม และเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมตัว ก็จะเอาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไว้ทีหลัง และยืนยันว่ากฎหมายที่ค้างอยู่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ
“เมื่อได้ข้อสรุปในการหารืออย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งการพิจารณากฎหมายพ.ร.บ.ประชามติต้องพิจารณาอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะเตะถ่วงได้ ไม่เช่นนั้นกฎหมายอื่นก็จะเข้ามาพิจารณาไม่ได้หากยังมีกฎหมายค้างอยู่”
ประธานสภาฯ กล่าวว่า หากรัฐบาลเสนอเลื่อนเร็วขึ้นมาเพียงวันเดียว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เอาไว้ให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมดีกว่า ซึ่งได้รับทราบมาว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติในวันที่ 16 มิ.ย. รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และยังมีภาคประชาชน ที่ประสานยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย หากยื่นทันก็จะสามารถบรรจุระเบียบวาระในการประชุมคราวเดียวกันได้
“ก้าวไกล”เท“เพื่อไทย”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคว่า ที่ประชุมของพรรคเห็นชอบให้มีการปิดสวิตซ์ ส.ว. ยกเลิกอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีทั้ง 250 คน โดยจะลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในประเด็นนี้ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ส.ส. ของพรรค มีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เสนอแก้ไข ม.256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการจำกัด อำนาจของ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2
โดยพรรคก้าวไกลยืนยันมาโดย ตลอดว่า การถูกตีกรอบ เหมือนเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว และไม่เคารพต่อเสียงของประชาชน ซึ่งพรรคก้าวไกล เชื่อมั่นว่า เสียงที่มาจากประชาชน มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด
เสียงปชช.ต้องไม่ตกนํ้า
ส่วนเรื่องระบบการเลือกตั้งนั้น พรรคก้าวไกล เห็นว่า หากจะแก้ไขระบบเลือกตั้ง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างระบบที่ดี ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียงแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ต้องทำให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้ดีที่สุด รวมถึงต้องส่งเสริมความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง สร้างประสิทธิภาพให้รัฐสภา
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี รวมถึงระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ยังมีข้อด้อยต้องปรับปรุง เราเห็นว่าระบบที่ดี ควรเป็นระบบจัดสรรผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นเลือก ส.ส.แบ่งเขต 1 ใบ และเลือกพรรคการเมือง 1 ใบ เสียงประชาชนต้องไม่ตกนํ้า และเสียงของประชาชนทุกคนต้องถูกนับ
“พรรคก้าวไกล ยังยืนยันว่า ทางออกจากวิกฤติิรัฐธรรมนูญใน ปัจจุบัน ไม่ใช่การเข้าร่วมแก้ไข รัฐธรรมนูญตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อต่ออายุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา แต่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการลงประชามติ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งการปิดสวิตซ์ ส.ว. ตัดอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี” นายพิธา ระบุ
เชื่อร่างฝ่ายค้านไปไม่รอด
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นระบบเลือกตั้งที่กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่า เป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้อง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ รับได้ไม่ว่าจะเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือ 2 ใบ แต่มีเพียงพรรคก้าวไกล ที่ไม่กล้าเสนอระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 บัตร จึงสงสัยว่าเป็นเพราะกังวลว่าพรรคตัวเองจะสูญพันธุ์หรือไม่
นายไพบูลย์ มั่นใจว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐจะผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการในวันที่ 23 และ 24 มิ.ย.นี้ เพราะมีเสียงของพรรคพลังประชารัฐ 122 ส.ส. หรือรวมพรรคประชาธิปัตย์อีก 50 เสียง และเสียง ส.ว.อีก 250 เสียง รวมแล้วมากกว่า 400 เสียง และหากเพื่อไทย เห็นด้วยก็เกิน 500 เสียง ซึ่งจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาที่ต้องผ่านความเห็นชอบ และต้องให้ ส.ว. เห็นชอบด้วย 1 ใน 3
ส.ส.ส่วนประเด็นการแก้ไข ม.272 ของพรรคเพื่อไทย นายไพบูลย์ เชื่อว่าจะหาเสียงสนับสนุนได้ไม่ครบตามจำนวนหลักเกณฑ์วาระรับหลักการที่กฎหมายกำหนดไว้ คือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ และ วุฒิสภา (ส.ว.) จะไม่ยกมือให้
เปิดเล่ห์พปชร.แก้รธน.
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย พร้อมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5 มาตรา อาทิ มาตรา 272 มาตรา 279 มาตรา 256 และ มาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง
ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พบว่าข้อเสนอของ พปชร. เป็นการแก้ไขเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีก 1 สมัย เพราะการไม่แตะอำนาจ ส.ว. จึงเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่า ต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ครั้งหน้า ดังนั้น พรรคฝ่ายค้านต้องการแก้ไข ม.272 เพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ควรล็อกตำแหน่งให้กับใครคนใดคนหนึ่ง
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการแก้ไข ม.256 นั้น เป็นการแก้ไขเพื่อเปิดทางไว้ เพราะหากไม่แก้จะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าต่อไป
ส่วนระบบเลือกตั้ง จะต้องเป็นบัตร 2 ใบ เพราะสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนดีกว่าบัตรใบเดียว ประชาชนสามารถเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบได้
“สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่คงคาดหวังอะไรไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาแม้จะประกาศกลางสภาว่าเห็นด้วย แต่ก็ส่งสัญญาณควํ่าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คงให้ราคาไม่ได้”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,688 หน้า 12 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน 2564