แก้รธน.ยกสอง ความขัดแย้งรอบใหม่

17 มิ.ย. 2564 | 05:31 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2564 | 05:44 น.

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ยกสอง” ที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 23 มิ.ย.นี้ กำลังจะกลับมาเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะแต่ละ “ประเด็น” แต่ละพรรคที่เสนอเข้ามา ไปคนละทิศละทาง

นอกจากจะเกิดความ ขัดแย้ง ความเห็นต่าง ในแต่ละพรรคการเมืองด้วยกันเองแล้ว ยังจะเกิดความขัดแย้งกับ  “สมาชิกวุฒิสภา” หรือ ส.ว. ที่ไม่เห็นด้วยกับการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกส.ว. หรือ ไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ 

ข้อเสนอของแต่ละพรรค เริ่มต้นจาก พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ ใน 5 ร่าง 5 ประเด็น คือ

1. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน, 2. ม.29 เพิ่มสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน และสิทธิชุมชนจะให้รัฐจัดให้มีทนายความในการต่อสู้คดีกับภาครัฐ, 3. ม.144 ปรับปรุงเกี่ยวกับการเข้าไปใช้งบประมาณของประเทศให้มีความยืนหยุ่นเพิ่มขึ้น โดยกลับไปใช้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550  

4. ม.185 ผ่อนคลายให้ ส.ส.สามารถเข้าไปติดตามข้าราชการ และช่วยเหลือความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น, 5. ม.270 ในบทเฉพาะกาล แก้ไขให้รัฐสภา โดย ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ จากเดิมที่ให้ ส.ว.ดำเนินการเพียงลำพัง

ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ร่าง ประกอบด้วย 

 

1. แก้ไข ม.256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นหมวด 1 และ 2 มีส.ส.บางส่วนร่วมลงชื่อ, 2. แก้ไข ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นร่างที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านลงชื่อกันอย่างพร้อมเพรียง 3. แก้ไขเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 ม.29 เรื่องการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ม.45 และ 47 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

 

แก้รธน.ยกสอง ความขัดแย้งรอบใหม่

 

4. แก้ไข ม.83 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ให้มี ส.ส.แบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม, 5. ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ม.270 ม.271 ม.275 และ ม.279 ในเรื่องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี และการยกเลิกอำนาจคสช. 

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแก้ 6 ประเด็น 6 ร่าง ได้แก่ 1. เรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งสิทธิทางกฎหมาย สิทธิชุมชน สิทธิส่วนบุคคล, 2. ระบบเลือกตั้ง ใช้ระบบบัตร 2 ใบ แบ่งเขต 400 เขต บัญชีรายชื่อ 100 คน, 3. การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องจากบัญชีรายชื่อ ที่พรรคเสนอ หรือจาก ส.ส.ในสภาฯ ได้ เพื่อให้ นายกฯ ยึดหลักการยึดโยงกับการเลือกตั้ง 

 

4. แก้ ม.256 โหวตเสียงเห็นชอบใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียงแทน จากเดิมใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาที่จะต้องมีเสียง ส.ว. และฝ่ายค้านเห็นชอบด้วย, 5. แก้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้สามารถดำเนินคดีกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ โดยไม่ต้องให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยก่อนส่งศาลฎีกา ให้ประธานรัฐสภา มีหน้าที่เพียงส่งเรื่องเท่านั้น และ 6. เรื่องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย เสนอแก้ 2 ร่าง คือ 1. รัฐต้องมีหลักประกันรายได้ให้ประชาชนอย่างน้อยต้องมี 36,000 บาท ต่อปี 2. แก้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตามสถานการณ์ 

เห็น “ประเด็น” ที่แต่ละพรรคเสนอแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็มองเห็น “ความขัดแย้ง” ที่จะเกิดขึ้นตามมาเช่นกัน... 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,689 หน้า 10 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน 2564