ขุมกำลังพรรคพลังประชารัฐ หลังเปลี่ยนกรรมการบริหารชุดใหม่จะเป็นเช่นไร ไปดูกันจะจะว่า ใครเข้มแข็งใครอ่อนแอ เมื่อ “ผู้กอง ธรรมนัส” ขึ้นกุมชะตาพรรค เป็นขุนพลคู่กาย “บิ๊กป้อม” ตามที่ลั่นวาจาไว้ว่า เป็น “เส้นเลือดใหญ่ของพรรค” ตัวจริง!
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น โดยมีวาระสำคัญคือการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคใหม่ และมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคใหม่จาก นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
ปรากฏว่า พรรคพปชร.มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค โดยลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคพปชร. ลงจาก 27 คน เหลือแค่ 26 คน ได้แก่
1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียวแบบไร้คู่แข่ง โดยได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 582 คะแนน
2.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค เสียงจากการลงมติ ได้ 556 คะแนน ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส เป็นเลขาธิการพรรค พปชร.คนที่ 3 ต่อจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และ นายอนุชา นาคาศัย
3.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิกพรรค ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 575 คะแนน
4.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค ได้เสียงจากการลงมติ 575
ส่วนกรรมการบริหารพรรค 22 คน ที่เหลือประกอบด้วย
1.นายสันติ พร้อมพัฒน์ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 560 คะแนน
2.นายวิรัช รัตนเศรษฐ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 547 คะแนน
3.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 539 คะแนน
4.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 545 คะแนน
5.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 542 คะแนน
6.นายอนุชา นาคาศัยได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 544 คะแนน
7.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 547 คะแนน
8.นายสุพล ฟองงาม ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 545 คะแนน
9.นายนิโรธ สุนทรเลขา ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 545 คะแนน
10.นายไผ่ ลิกค์ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 534 คะแนน
11.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะได้คะแนนเสียงจากการงมติ 534 คะแนน
12.นางประภาพร อัศวเหม ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 535 คะแนน
13.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 537 คะแนน
14.นายอิทธิพล คุณปลื้ม ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 538 คะแนน
15.นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 491 คะแนน
16.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 531 คะแนน
17.นายสุชาติ อุสาหะ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 532 คะแนน
18.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 533 คะแนน
19.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 540คะแนน
20.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรลักษณ์ ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 539 คะแนน
21.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 542คะแนน
22.นายสมเกียรติ วอนเพียร ได้คะแนนเสียงจากการลงมติ 541คะแนน
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนสูงสุด 582 คะแนน ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้คะแนนต่ำสุด 491 คะแนน
จากนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้แจ้งว่า เพื่อให้การแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคอยู่ในวาระการประชุมพรรคครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ใช้อำนาจ
หัวหน้าพรรคในการแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรค 4 คน ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์, นายวิรัช รัตนเศรษฐ, นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เป็นรองหัวหน้าพรรค โดยที่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่แต่อย่างใด
ส่วนกลุ่มสามมิตร นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายอนุชา นาคาศัย เมื่อเสร็จการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ได้เดินทางกลับในเวลา 11.30 น. ทันที ส่วนนายวิรัช ได้ปิดประชุม เวลา 14.30 น.
รายงานข่าวจากพรรคพปชร. แจ้งว่า การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส สามารถยึดเก้าอี้กรรมการบริหารพรรคได้มากถึง 12 คน อาทิ นายไผ่ ลิกค์ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายรงค์ บุญสรวยขวัญ นายสัมพันธ์ มะยูโซะ นายสุชาติ อุสาหะ ศาตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กลุ่มสายตรง พล.อ.ประวิตร เป็นกรรมการบริหารพรรค 10 คน กรรมการบริหารพรรคในกลุ่มสามมิตร มี 4 คน
ขณะที่ กรรมการบริหารพรรคสาย “4 กุมาร” ถูกโละออกยกชุด เช่น นายวิเชียร ชวลิต นายสันติ กีระนันทน์ นายพรชัย ตระกูลวรานนท์
นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่า หลังจากนี้จะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีในโควต้าพรรคพลังประชารัฐที่มีอยู่จำนวน 12 เก้าอี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และภารกิจของกรรมการบริหารโดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส ที่เป็น เลขาธิการพรรค พปชร.
ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เคยให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “เนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก.” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 เรื่องข้อกล่าวหาคดียาเสพติด การถูกถอดยศ วุฒิการศึกษา ความเหมาะสมในการเป็นรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า “ผมคือตัวคีย์สำคัญของรัฐบาล เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการรวบรวมเสียงเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ผมเป็นคนจัดการทั้งหมด...
...ดังนั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่พยายามจะโจมตีผมก็รู้อยู่แล้วว่า ผมคือตัวคีย์สำคัญของรัฐบาล รัฐบาลจะสั่นคลอน หรือเสถียรภาพรัฐบาลจะดีหรือไม่ดี จะมั่นคงหรือไม่มั่นคงอยู่ที่ตัวผม แต่เป้าก็คือต้องการล้มรัฐบาล ล้ม พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค เป็นพรรคที่ผมไปคุย ถือว่าเป็นสาระสำคัญ ถ้าเปรียบเทียบกับร่างกาย ผมก็เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ถ้าเส้นเลือดใหญ่เส้นนี้ แตกไปเมื่อไหร่ รัฐบาลจะล้มหากไม่มีเส้นเลือดใหญ่เส้นนี้ ตอนนี้ผมก็ต้องมีแผนสำรองไว้แล้วคือ ทุกพรรคที่มาร่วมรัฐบาล ณ เวลานี้ก็จะมีตัวที่คอยเชื่อม
ร.อ.ธรรมนัส ยํ้าว่า ตอนไปตกลงกับ 19 พรรคต้องบอกว่า ผมไม่ได้อยู่ในสนามการเมืองเฉพาะการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่อยู่เบื้องหลังการเมืองมานานพอสมควร ฉะนั้นส.ส.ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันดี ความผูกพันในอดีตจึงทำให้เขามั่นใจในตัวผม
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ในแง่ของการเล่นหมากรุก ถ้ารุกไปถึงตัวรัฐมนตรีจะรุกถึงตัวรัฐบาลหรือไม่? ร.อ.ธรรมนัส ตอบว่า เขาคงมองว่าล้มผมได้นั่นหมายความว่ารัฐบาลสั่นคลอน แต่ผมไม่มีอะไร ผมชี้แจงไปหมดแล้ว จะไปขุดไปคุ้ยอะไรอีก ผมเชื่อว่ายังมีอีก แต่ผมตอบคำถามได้หมด ในเรื่องคดีที่ประเทศออสเตรเลียที่มี 2 เวอร์ชัน ผมว่าคนที่เอาข้อมูลมาแชร์เขาไม่รู้กฎหมายของประเทศออสเตรเลียจริง มันต้องศึกษากฎหมายให้ดีจะไปวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินคดีไม่ได้ ที่สำคัญคือประเทศออสเตรเลียถือว่ามีกฎหมายที่ค่อนข้างรุนแรง
ที่มีการหยิบประเด็นนี้มาโจมตีการเป็นรัฐมนตรี “ผมว่า ผมตอบได้ทุกคำถาม ปัญหาผมแก้ได้ ผมไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นจุดอ่อน”
บทบาทของ ร.อ.ธรรมนัส ในตำแหน่งเลขาธิการพรรค พปชร. และ “เส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล” หลังจากนี้ไปจึงน่าจับตาอย่างมาก และเชื่อว่าจะเป็นผู้นำทัพลงสู่สนามการเลือกตั้งที่เปี่ยมไปด้วยพลังและสีสันอย่างยิ่ง
คอยดูเต๊อะ ปี้น้อง..
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :