พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เปิดเผยว่า วุฒิสภาได้จัดเวทีเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ญัตติที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอให้รัฐสภาพิจารณา วันที่ 23 - 24 มิ.ย.นี้ โดยมีส.ว.เข้าร่วมกว่า 100 คน และส่วนใหญ่ที่ร่วมวงเสวนา เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขเนื้อหาของบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะมองว่าเนื้อหาดังกล่าวบังคับใช้เพียง 5ปีเท่านั้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติ
นอกจากนั้น ยังเห็นว่า ส.ว.ไม่ใช่เสียงชี้ขาดในการโหวตเลือกนายกฯ แต่เสียงชี้ขาดที่แท้จริงคือ ส.ส.ที่ต้องรวมกันให้ได้เกิน 250 เสียงว่า จะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ซึ่งส.ว.ก็จะลงมติไปตามเสียงส่วนใหญ่ของส.ส. ไม่สามารถลงมติแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ของส.ส.ได้ ดังนั้น เชื่อว่าการแก้ไข มาตรา 272 จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากส.ว.
ส่วนประเด็นการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นประเด็นที่ส.ว.อภิปรายให้ความเห็นกันมาก โดยส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องถ้าจะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ดูแนวโน้มแล้ว ส.ว.น่าจะให้ความเห็นชอบการแก้ไขมาตรานี้ในทุกร่างที่เสนอมา ไม่ว่าจะเป็นของ พรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 ว่าด้วยข้อห้าม ส.ส. ส.ว. แปรญัตติงบประมาณ ทั้งทางตรง หรือ ทางอ้อม และแทรกแซงข้าราชการ หากใครฝ่าฝืนให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ ขอให้แก้ไขโทษว่าด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิด ทำให้มีส.ว.จะลงมติไม่เห็นชอบ แต่สุดท้ายแล้วน่าจะมีเสียงส.ว.สนับสนุนเพียงพอให้ผ่านไปได้ เพราญัตติของพรรคพลังประชารัฐ มีเพียงฉบับเดียว
"เสียงส.ว.ส่วนใหญ่จะอนุโลมให้ผ่านไปก่อน แล้วไปแก้ไขในชั้นการแปรญัตติ ให้สามารถควบคุมส.ส.-ส.ว.ไม่ให้เข้าไปแทรกแซงการใช้งบประมาณได้ ส่วนประเด็นการแก้ไขรายมาตราอื่นๆ เช่น การเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน ขึ้นอยู่กับความเห็นของส.ว.แต่ละคนในการลงมติ" พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :