วันที่ 2 ก.ค. 2564 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว วิพากษณ์ผลกระทบจาก นโยบายรัฐบาลประยุทธ์ กรณีเลิกคุมราคาก๊าซหุงต้ม ไปอิงราคาตลาดโลก ที่ประเทศซาอุดิอะราเบีย โดยมีข้อความว่า
"ตัวอย่างนโยบายเฉือนเนื้อประชาชนไปให้นายทุน"ข้อความว่า
ผมเคยชี้ปัญหา หลายรัฐบาลก่อนหน้าพลเอกประยุทธ์ กำหนดเพดานราคาขายส่งก๊าซ LPG สำหรับภาคครัวเรือนเอาไว้ เพื่อมิให้บริษัทที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซ ได้เปรียบประชาชน
เหตุผลเพราะ ปริมาณก๊าซที่ภาคครัวเรือนใช้นั้น พอๆ กับปริมาณที่ผลิตในอ่าวไทย จึงเป็นการตรึงเพดาน เพื่อประชาชน โดยใช้ทรัพยากรของประชาชน
แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กลับยกเลิกเพดาน ไปอิงราคาตลาดโลก ที่ประเทศซาอุดิอะราเบีย ทำให้บริษัทที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซได้กำไรเพิ่ม แต่ประชาชนเดือดร้อน เพราะราคาขายปลีกสูงขึ้นทันที
รัฐบาลแสดงบทเป็นพระเอก สั่งกำหนดเพดานคุมราคาขายปลีกทันที แต่มีปัญหาว่าจะเอาเงินจากไหนมาใช้เพื่ออุดหนุนประชาชน เนื่องจากไม่สามารถเอาเงินจากงบประมาณมาใช้ชดเชยได้
พลเอกประยุทธ์ดีใจมาก ที่ตนเองมิได้ยกเลิกกองทุนน้ำมันตามที่มีคนเคยเสนอ เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือหาเงินมาใช้ช่วยชดเชยให้แก่ครัวเรือนผู้ใช้ก๊าซ LPG
พลเอกประยุทธ์เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่ม เพื่อเอาเงินดังกล่าวมาใช้อุดหนุนประชาชนเรื่องก๊าซ ภูมิอกภูมิใจ ว่าบริหารประเทศเก่งมาก
แต่ในข้อเท็จจริง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ที่ต้องควักกระเป๋า เอาเงินมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้ก๊าซ LPG ก็คือผู้ใช้รถยนต์นั่นเอง
พูดง่ายๆ ประชาชนต้องช่วยกันควักกระเป๋า เพื่อมาช่วยประชาชนกันเอง เพราะนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทำให้บริษัทที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซ มีกำไรเพิ่มเป็นกอบเป็นกำ
เป็นกำไรที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์คุ้มครอง เพราะไม่ยอมนำเอาเพดานราคาค้าปลีกกลับมาใช้บังคับ
บัดนี้ ข่าวระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องขยายกรอบวงเงินอุ้มราคา LPG เพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท เป็น 18,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเงินเหล่านี้ คือเงินที่ไหล เข้ากระเป๋าบริษัทที่ผู้ขาดธุรกิจก๊าซนั่นเอง
ไหลออกไป จากกระเป๋าของประชาชนผู้ใช้รถยนต์ เป็นการเฉือนเนื้อคนจน ไปให้คนรวยและเพื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทผูกขาด ซึ่งมีชาวต่างชาติอยู่ด้วย
ผู้อ่านจึงควรจะวิเคราะห์ติดตาม เพราะนโยบายทำนองนี้ มีมากมายในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์