การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ “โควิด-19” ในมนุษย์นอกจากกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ยังมีการระบาดของ “โรคลัมปี สกิน” ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ใน โค-กระบือ กำลังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโคนมทั้งระบบ (นมโรงเรียน+นมพาณิชย์) มูลค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท บวกกับอุตสาหกรรมโคเนื้อ โคขุนอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท รวมกว่า 1.13 แสนล้านบาทกำลังสั่นสะเทือน ปัจจุบันโรคนี้ยังลุกลามในสัตว์ แข่งกับโรคโควิดที่ยังลุกลามในคนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมตัดสินใจนำเข้าวัคซีนโดยขอผ่านกรมปศุสัตว์ เพื่อสกัดโรค ป้องเกษตรกรเจ๊ง ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการ ุชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้มีเกษตรกรร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากว่า ขณะนี้มีวัคซีนเถื่อนป้องกัน “โรคลัมปี สกิน” ระบาดเข้ามา จนรับโทรศัพท์ไม่ไหว ความจริงไม่อยากไปซ้ำเติมกรมปศุสัตว์ ตอนนี้สถานการณ์ คล้ายวัคซีนโควิดในคนที่ทุกคนมีความต้องการ แต่จำนวนมีไม่เพียงพอ จึงทำให้มีวัคซีนเถื่อนระบาดเข้ามาทางชายแดน เป็นการแอบลักลอบเข้ามาไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งน้ำยาไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรถูกหลอก และทำให้เกิดอาชีพใหม่ ผ่านหมออาสา หรือเกษตรกรจะเรียกว่า “หมอวัว” คิดค่าฉีด ตัวละ 200-300 บาท ขวดหนึ่งมี 25 โดส ฉีดครั้งละ 25 ตัว
“แผนการจัดสรรโควตาวัคซีนโรคลัมปีสกิน มีคำถาม เช่น ทำไมจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุงถึงได้ 2 หมื่นถึง 3 หมื่นโดส แต่จังหวัดนครปฐมมีวัวโคนมจำนวนมากแต่ได้มาแค่ 700 โดส เท่านั้น ซึ่งวัวที่เป็นโรคแล้วจะฉีดวัคซีนไม่ได้ แต่จะฉีดป้องกันวัวที่ยังไม่เป็นโรค ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเอาหลักเกณฑ์อะไรมาจัดสรรโควตาวัคซีนในแต่ละจังหวัด อย่างราชบุรีมีวัวนมจำนวนมาก ได้มาแค่ 1,700 โดส ทั้งที่มีวัวกว่าหมื่นตัว และยังมีโคขุนอีกด้วย ทำให้หลายสหกรณ์รู้สึกน้อยใจ”
สำหรับ ประเทศไทยมีโคนม และโคเนื้อ รวมกันประมาณ 7 ล้านตัว ทางชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ รวมทั้งอีก 7 สมาคม จึงมีนโยบายช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้หวังพึ่งงบรัฐบาล เพราะโคนมตัวละ 5 หมื่นถึง 6 หมื่นบาท คงรอไม่ไหว จึงขอนำเข้าวัคซีนป้องโรคลัมปี สกิน (กราฟิกประกอบ) และต้องเร่งผลักดันในการฉีด ปัจจุบันวัคซีนนำเข้ามาแล้วกำลังอยู่ในระหว่างการติดฉลากห้ามจำหน่าย จากนั้นจะเร่งแบ่งให้กับสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศเพื่อทำการฉีดต่อไป
ขณะที่นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำว่า ในการป้องกันโรคนี้ ให้นำน้ำข้าวต้มผสมรังปลวกเผามารักษา "โรคลัมปี สกิน" ในโคกระบือ ยืนยันได้ผลจริง และราคาถูก เป็นวิธีของปราชญ์ชาวบ้าน จึงนำไปโชว์และสาธิตให้เกษตรกรผู้เลี้ยงในจังหวัดเชียงใหม่ (27 มิ.ย.64) โดยสูตรคือ น้ำรังปลวก 1 กิโลกรัม มาเผาไฟแล้วบดละเอียดแล้วนำไปผสมกับน้ำข้าวต้ม 4 ลิตร ทาที่แผลของวัวที่ติดโรคจะหายในเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของชาวบ้านที่สามารถทำเองได้ จึงสั่งให้กรมปศุสัตว์ศึกษาด่วนเพื่อให้สามารถใช้ได้ทั่วประเทศ
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดี กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ต้องพิสูจน์ ว่ารักษาโรคลัมปีสกินด้วยวีการข้างต้นจะได้ผลจริงหรือไม่ เพราะ จอมปลวก มีส่วนประกอบจากใบไม้ เศษไม้ และดิน ซึ่งมีสารประกอบทางเคมีส่วนใหญ่ คือ ซิลิคอน ไดออกไซด์ (ซิลิก้า) และยังมีสารประกอบอื่นๆ อีกหลายชนิด (มีอะไรในนั้นที่ส่งผลอะไรเชิงบวก หรือเชิงลบได้บ้าง)
ทั้งนี้หากผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่เหมาะสม จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือเร่งปฏิกิริยาทางเคมีบางชนิดได้จะมีปฏิกิริยาทางเคมีอะไรที่เกิดขึ้นได้บ้างจากส่วนประกอบที่มีอยู่ หรือบวกกับตัวปลวก หากให้ความร้อนด้วยการเผา นอกจากนี้น้ำต้มข้าว ยังมีสรรพคุณทางตำรายาโบราณต่อมนุษย์ว่า เป็นยาเย็น ช่วยถอนพิษไข้ และยังช่วยด้านการบำรุงผิว และเส้นผม กรณีในสัตว์ให้ผลในการตอบสนอง เหมือนหรือต่างกับคนหรือไม่อย่างไร
“น้ำกับการเช็ดตัวสัตว์บ่อยๆ จะทำให้สัตว์สบายตัว และส่วนประกอบในน้ำนั้น มีอะไร และส่งผลในเชิง 1.ป้องกันแมลง 2. ดูแลบาดแผล 3. ระบายความร้อน หรือไม่ อย่างไร อย่างไรก็ดี ควรมีการรักษาที่เหมาะสมอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การใช้รักษาบาดแผลป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือรักษาตามอาการของสัตว์ในแต่ละระยะ ทั้งนี้ควรปรึกษาสัตวแพทย์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
จาก “โรคลัมปีสกิน” ที่กำลังระบาดในสัตว์ ซึ่งใช้วิธีป้องกันโดยการฉีดวัคซีน และวิธีรักษาตามวิถีปราชญ์ชาวบ้านแบบไหนจะได้ผลกว่ากัน ขณะที่ต้องติดตามวัคซีนที่กำลังทยอยนำเข้าโดยบริษัทเอกชน จะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันกับสถานการณ์หรือไม่นั้น ต้องติดตามตอนต่อไป
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,693 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564