แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือที่ รฟ 1/1911/2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่
นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังขอให้ “อธิบดีกรมที่ดิน” แจ้งผลการพิจารณาให้ รฟท.ทราบภายใน 90 วัน แต่หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว รฟท.จะใช้สิทธิดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทางศาลต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า ในการนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ รฟท.จัดส่งแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของ รฟท. และเลขโฉนดที่ดิน ที่ขอให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ใน 3 พื้นที่ดังนี้
1.บริเวณที่ดินในทางแยกเขากระโดง กม.000 ถึง กม.8+000 เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของ รฟท. ตามพ.ร.ฎ.การกำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ.2462 และพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออก พ.ศ.2464
2.บริเวณที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่รวม 44 ไร่เศษ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือแจ้งผลการไต่สวนเรื่องกล่าวหาเลขที่ดำที่ 51910034 เรื่องกล่าวหา เลขที่แดงที่ 14959054 มีมติว่า เป็นการออกโฉนดในที่ดินของ รฟท.ซึ่งเกี่ยวพันกับตระกูลดังขิงนักดารเมืองในจังหวัดบุรีรัมย์
3.พื้นที่ที่ดินในแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 ตามคำสั่ง ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 842-876/2560 และคดีหมายเลขแดงที่ 8027/2563 ว่า ที่ดินตามคำพิพากษาทั้ง 2 คดี ซึ่งมีเนื้อที่รวม 194 ไร่
ในหนังสือกรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎร และให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น จึงต้องดำเนินการให้เป็นตามกระบวนการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง
หนีงสือของรฟท.ระบุว่า เมื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดขอให้แจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายใน 90 วัน หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว การรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้ใช้สิทธิทางศาลต่อไป