วันนี้(4 ส.ค.64) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ “เศรษฐกิจก่อวิกฤตการเมืองได้อย่างไร?” ระบุว่า
วิกฤตเศรษฐกิจไทยใหญ่ครั้งก่อนหน้า คือ ต้มยำกุ้งปี 2540
แต่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพียงเล็กน้อย พลเอกชวลิต ยอมลาออก คุณชวนกลับมาจัดตั้งรัฐบาลรอบสอง
ทำไมวิกฤตปี 2540 จึงเปลี่ยนแปลงการเมืองไม่มาก?
วิกฤตปี 2540 เกิดจากภาคเอกชนกู้เงินเป็นสกุลดอลลาร์มาก โดยไม่ป้องกันความเสี่ยง
เมื่อฟองสบู่แตก ด่านหน้าที่กระทบ คือค่าเงินบาทอ่อน และแบงค์เผชิญปัญหาลูกหนี้ NPL
เงินบาทอ่อนลง หนี้ที่แปลงจากสกุลดอลลาร์ก็สูงขึ้น แต่ผลกระทบตกที่นายทุนและบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก
แต่ในทางกลับกัน เงินบาทที่อ่อน กระตุ้นการส่งออก ทำให้รายได้เกษตรกรและต่างจังหวัดดีขึ้น ช่วยอุ้มชนชั้นล่างได้บ้าง
เศรษฐกิจนำไปสู่วิกฤตการเมืองขนานใหญ่ อย่างไร?
เกิดขึ้นในปี 2475 มีการบรรยายไว้ในบทความ ‘การวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2468-2477’ โดยนันทนา กปิลกาญจน์
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งสำคัญ The Great Depression ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแตปี 2473 ได้ส่งผลลุกลามไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ปัญหาด้านการคลังของไทย
การผลิตข้าวไม่ได้ผลในช่วงทศวรรษ 2460 ในสมัยรัฐบาล ร.6 ดังนั้น รายได้รัฐบาลตกต่ำ ในขณะที่มีการใช้เงินพระคลังไปเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ฐานะการคลังอ่อนลงทุกวัน
ร.7 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี 2469 ปัญหางบประมาณหนักขึ้นตั้งแต่ปีแรก รัฐบาลต้องใช้วิธีตัดทอนรายจ่ายภาครัฐ พร้อมทั้งดุลข้าราชการออก ทำให้เกิดความไม่พอใจ
รัฐบาลพยายามแสวงหารายได้ โดยการเพิ่มภาษีส่งออก ทั้งอัตรา และชนิดสินค้า แต่กำลังซื้อในโลกตกต่ำ ทำให้ราคาส่งออกของไทยแย่ลงไปด้วย
แต่ฟางเส้นสุดท้าย เกิดจากปัญหานโยบายการเงิน
เศรษฐกิจอังกฤษย่ำแย่ เพราะยังไม่ฟื้นจากการทุ่มทำสงครามWW1 รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินมาก
แต่ติดขัดที่เงินปอนด์ผูกกับมาตรฐานทองคำ ซึ่งบังคับมิให้พิมพ์เงินปอนด์เกินตัว
ในปี 2474 อังกฤษจึงตัดสินใจ ตัดเงินปอนด์ออกจากมาตรฐานทองคำ เงินปอนด์อ่อนค่าลง
ร้อนถึงประเทศเล็กๆ ที่เดิมผูกค่าเงินไว้กับเงินปอนด์ ต้องเลือกระหว่าง ทางที่หนึ่ง ผูกไว้กับเงินปอนด์เช่นเดิม (เงินของตนจะอ่อนลงไปตามเงินปอนด์)
หรือทางที่สอง เลิกผูกกับเงินปอนด์ เปลี่ยนไปผูกกับมาตรฐานทองคำ (เงินของตนจะไม่อ่อนลงไปตามเงินปอนด์)
ปรากฏว่ารัฐบาล ร.7 เลือกทางที่สอง
ท่ามกลางสกุลอื่นที่อ่อนลงไปตามเงินปอนด์ เงินบาทจึงกลายเป็นเกาะ ตั้งสูงเด่นอยู่กลางทะเล ระดับน้ำลดลงไปทุกด้าน
เงินบาทที่แข็งเกินไป ทำให้กระทบส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งออกข้าว อันเป็นรายได้อันดับที่หนึ่ง และจ้างงานคนส่วนใหญ่
นอกจากนี้ เมื่อส่งออกน้อยลง เงินบาทที่ผูกกับมาตรฐานทองคำ ก็เริ่มยวบยาบ
รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการนำเอาเงินทุนสำรองของประเทศออกมาช่วยพยุงค่าเงินบาท จนกระทั่งเงินทุนสำรองหมด
ในที่สุด รัฐบาล ร.7 ตัดสินใจเปลี่ยนกลับไปผูกกับเงินปอนด์เช่นเดิม โดยลดค่าเงินบาทไปพร้อมกัน แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว
สรุป ภาวะเศรษฐกิจที่เลวลง ซึ่งกระทบชนชั้นล่างกว้างขวาง นำไปสู่การปฏิวัติครั้งแรกในปี 2475
ถามว่า ภาวะเศรษฐกิจโควิดถึงสภาพเดียวกับ 2475 หรือไม่?
การบริหารวัคซีนผิดพลาด จนต้องล็อคดาวน์เข้ม ทำให้ sme ปิดกิจการมาก คนตกงานถูกขับจากบ้านเช่า นับว่ามีผลกระทบในวงกว้างเกิดขึ้นแล้ว
เพียงแต่จะต้องดูว่า จะมีปัญหาใดที่ค้างคาแบบถาวรหรือไม่
แต่แง่มุมที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ ภาพเศรษฐกิจ post covid จากการที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้เลย
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 7 ปี กู้เงินมากกว่าสามรัฐบาลก่อนหน้ารวมกัน เศรษฐกิจอนาคตจะต้องวางแผนแบกรับภาระหนี้หนัก เป็นโจทย์ใหญ่ไปอีกหลายสิบปีอยู่แล้ว
แต่นโยบายการคลังประยุทธ์ เน้นเอาเงินกู้มาแจกแบบกระจายมากไป เน้นใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งกระตุ้น จีดีพี ได้เพียงครั้งเดียว ใช้แล้วก็หมดไป
นโยบายการคลังสุรุ่ยสุร่าย แต่ไม่ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจกลับเข้มแข็ง และขณะนี้ หนี้สาธารณะก็ใกล้จะติดเพดาน ไพ่ทางการคลังกำลังจะหมดมือ
ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ก็แผ่วลงมาตลอด 7 ปี รัฐบาลวาดฝัน โมเดลดึงดูดทุนอุตสาหกรรมไฮเทค แต่คนงานขาดทักษะ
ตัวเลขส่งออกบูมชั่วคราว เพราะได้อานิสงส์จากบาร์ซูการ์การคลังประเทศตะวันตก ซึ่งลำกล้องใหญ่สุด เพราะมีการใช้เงินมากกว่าวิกฤตอดีตรวมกันสี่ห้าครั้ง
แต่หลายประเทศกำลังจะมีปัญหา กำลังจะหมดกระสุนสำหรับอนาคต ในขณะที่สงครามการค้ามีแนวโน้มจะเข้มข้นมากขึ้น
ภาพ post covid ที่มัว ๆ อย่างนี้ จะทำให้การเมืองระส่ำระสาย หรือไม่? สังคมไทยควรจะวางแผนรับมือ อย่างไร?
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
อนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ผู้อ่านรายใดที่เกรงจะเกิดความหวาดกลัว หรือความเข้าใจผิดหรือความสับสน โปรดถามผมเพื่อให้ข้อมูลกระจ่างเสียก่อน