สรุป “ม็อบ 11 สิงหา” ตำรวจบาดเจ็บ 11 นาย เผารถ 8 คัน ทุบป้อม 12 แห่ง

12 ส.ค. 2564 | 07:07 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2564 | 14:13 น.

ผบช.น.แถลงสรุป "ม็อบ 11 สิงหาฯ" ตำรวจได้บาดเจ็บจากระเบิดปิงปอง พลุไฟ ลูกแก้ว และ ประทัดยักษ์  11 ราย รถถูกเผา 8 คัน ตู้ควบคุมสัญญาณจราจรถูกเผา-ทำลายอีก 12 แห่ง

วันนี้ (12 ส.ค.64) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติรักษาความสงบม็อบกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ที่จัดกิจกรรมไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อเนื่องแยกดินแดง เมื่อวันที่11 ส.ค.ที่ผ่านมา

 

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้นจำนวน 11 นาย สาเหตุการบาดเจ็บเกิดจากระเบิดปิงปอง ถูกพลุไฟ ลูกแก้ว ประทัดยักษ์ ส่วนทรัพย์สินของทางราชการรถยนต์ถูกเผาทั้งสิ้น 8 คัน ป้อม และตู้ควบคุมสัญญาณจราจรถูกเผาและทำลายอีก 12 แห่ง ทรัพย์สินของราชการเป็นสาธารณประโยชน์ของประชาชนโดยรวม ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปเผาหรือทำลาย 


ส่วนผู้กระทำความผิดจับกุมได้ทั้งหมด 17 ราย เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และจะได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ถ้าพบการกระทำความผิดข้อหาอื่นก็จะดำเนินคดีเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบผู้กระทำความผิดรายอื่นที่ร่วมกันในการกระทำความผิดครั้งนี้ 
 

ผบช.น.กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์เผารถควบคุมผู้ต้องขังที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเหตุเกิด เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา จากการรวบรวมพยานหลักฐานศาลอาญาได้ออกหมายจับ นายอาทิตย์ สกลวารี และ นายน้ำเชี่ยว เนียมจันทร์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าทำการจับกุมตัวไว้ได้ โดยทั้งสองคนให้การปฏิเสธ แต่ นายอาทิตย์ ยอมรับว่าอยู่ในเหตุการณ์จริง ยอมรับร่วมกันใช้ระเบิดปิงปองขว้างใส่รถควบคุมผู้ต้องขัง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้รถเกิดเพลิงไหม้ 

 

ส่วนนายน้ำเชี่ยว ให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ว่าอยู่ในที่เกิดเหตุร่วมกันใช้ระเบิดเพลิงขว้างใส่รถควบคุมผู้ต้องขังจนเกิดเพลิงไหม้ สำหรับนายน้ำเชี่ยว มีประวัติ เคยถูกดำเนินคดีร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้ง 2 คนศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับ ข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ รวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองและความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

 

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวถึงการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ยังคงมีการพูดข้อความ ตำรวจเอาประทัดยักษ์ยัดใส่มือม็อบ บังคับให้กำจนเกิดระเบิดใส่มือ พร้อมโพสต์ภาพผู้บาดเจ็บ ประกอบข่าวนั้นด้วยเพื่อให้คนอ่านเข้าใจผิดการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เตือนไปยังผู้ที่กระทำขอให้หยุดการกระทำ ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ ภาพที่เกิดขึ้น ประชาชนหรือสื่อมวลชนได้เห็นแล้วว่าตัวผู้กระทำความผิดพยายามจุดวัตถุระเบิดเพื่อเตรียมความปลาใส่เจ้าหน้าที่ แต่เกิดระเบิดใส่มือผู้กระทำความผิดเอง 

 

“ขอย้ำเตือนว่าผู้ที่นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จผู้เผยแพร่ผู้แชร์ต่อหรือผู้กระทำให้เกิดการแพทย์ลายด้วยประการหนึ่งประการใดในระบบคอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นความผิดตามพรบคอมพิวเตอร์ อาจได้รับโทษตามกฎหมายโทษจำคุก 5 ปีปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

 

ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีวางเพลิงเผาทรัพย์รถควบคุมผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ได้ทำการควบคุมผู้ต้องหาทั้ง 2 คน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่สั่งให้หยุดแล้วไม่หยุด 

 

นอกจากนี้ยังเป็นความผิดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อด้วยอีกส่วนหนึ่ง ในการสืบสวนขยายผลเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจค้นบ้านผู้ต้องหา 1 ใน 2 ผู้ต้องหา พบอาวุธปืนไทยประดิษฐ์ และวัสดุที่ใช้ในการประกอบวัตถุระเบิด ระเบิดปิงปอง เสื้อผ้า ของผู้ต้องหาที่ใส่ในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นพยานแวดล้อมประกอบคดี

 

พล.ต.ท.ภัคศ์พงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยเท่านั้น ไม่ได้โกรธแค้นผู้ชุมนุม และขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควด ขอให้ทุกคน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ไปก่อน เพราะเป็นเรื่องวิกฤติ

 

“การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ถ้าไปสร้างความเดือดร้อน ให้กับประชาชนผู้ที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุม ผมในฐานะเป็นตัวแทนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้ากระทบประชาชนต้องขออภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเท่านั้น แต่สำหรับบุคคลอื่น ถ้ากระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางเพลิงเผาทรัพย์ทำลายสิ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยืนยันจะดำเนินคดีทุกราย" ผบช.น.กล่าว

 

ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การปฏิบัติงานของที่ตำรวจจะอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมายก่อน อันดับแรกเจ้าหน้าที่จะต้องมีอำนาจตามกฎหมายที่สามารถกระทำได้ เมื่อมีอำนาจแล้วเราไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ การใช้อำนาจต้องใช้ตามความจำเป็น เมื่อมีความจำเป็นแล้วจะต้องมีสัดส่วนที่พอเหมาะสมสามารถตรวจสอบได้