ในระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. 2564 ที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) ได้พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (แก้ไขเพิ่มเติม ม.83 และ ม.91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 โดยเนื้อหามีสาระสำคัญดังนี้
กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน เป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
การเลือกตั้ง ส.ส.ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยเสรี โดยตรงและลับ ให้ใช้บัตรเลือกตั้งส.ส.แบบละ 1 ใบ
ในกรณีที่ตำแหน่ง ส.ส. ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้ง หรือประกาศชื่อส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาฯประกอบด้วย ส.ส. ท่าที่มีอยู่
ในกรณีมีเหตุใดๆ ที่ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึง 100 คน ให้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
ให้ยกเลิกความในมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 95 ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งโดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส. ได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง”
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้ง การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยกฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้ประกอบการสมัครรับเลือกตั้งด้วยก็ได้
ให้คณะกรรมการการ เลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 95 % ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด
กกต.ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การประกาศผลดังกล่าวไม่เป็นการตัดหน้าที่และอำนาจของกกต.ที่จะดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำการทุจริตการเลือกตั้ง
สำหรับการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
1. ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศเฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส. 400 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
2. จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตามข้อ 1 ให้มีส.ส.ในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
3. จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนให้มีส.ส.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
4. เมื่อได้จำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดตามข้อ 2 และ 3 แล้ว ถ้าจำนวนส.ส.ยังไม่ครบ 400 คน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตามข้อ 3 มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีส.ส.เพิ่มขึ้นอีก หนึ่งคน และให้เพิ่ม ส.ส.ตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวน 400 คน
5. จังหวัดใดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
สำหรับการคำนวณสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละ พรรคจะได้รับ ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกแต่ ละพรรค เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมโดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัญชีแต่ละพรรคได้รับเลือกตามเกณฑ์เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีพรรค
ส่วนเขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.ในเขตนั้น ให้กกต.จัดเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครใหม่
ให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จได้ และต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้กกต.มีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้งนั้นไปพลางก่อน