ซักฟอกครั้งสุดท้าย "บิ๊กตู่-อนุทิน"อ่วมพิษโควิด-19

31 ส.ค. 2564 | 01:09 น.

ซักฟอกครั้งสุดท้าย "บิ๊กตู่-อนุทิน"อ่วมพิษโควิด-19 : รายงานหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,710 หน้า 10 วันที่ 2 - 4 กันยายน 2564

ระหว่างวันอังคารที่ 31 ส.ค.นี้ เรื่อยไปจนถึงวันศุกร์ที่ 3 ก.ย. และลงมติโหวตวันเสาร์ที่ 4 ก.ย. 2564 ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย หวังว่า จะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ 

 

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 5 คน ครั้งนี้ จะมีผู้อภิปรายทั้งหมดประมาณ 34 คน 

 

แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 19 คน, พรรคก้าวไกล 6 คน, พรรคเสรีรวมไทย 3 คน, พรรคประชาชาติ 2คน, พรรคเพื่อชาติ 1 คน, พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน รวมถึง นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์และ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์  

 

ฝ่ายค้านได้วางกรอบการอภิปรายหลักๆ  มุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขที่ 2 คนนี้ จะใช้เวลาประมาณ 33 ชั่วโมง จากทั้งหมด 40 ชั่วโมง   

 

ต่อด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, ปิดท้ายด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

 

การเปิดอภิปรายจะเริ่มโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร และปิดท้ายด้วย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ในวันสุดท้าย

 

โดยใจความสำคัญจะอภิปรายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล ชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น และการทุจริตในส่วนต่างๆ 

 

“ศึกซักฟอก”ครั้งนี้ คนที่จะเจอถล่มอย่างหนักคงหนีไม่พ้น “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์” และ “เสี่ยหนู-อนุทิน” ว่าด้วยเรื่องการแพร่ระบาดของ “โควิด-19 ระลอก 3” และปัญหาการจัดซื้อจัดหา “วัคซีนโควิด”

 

เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติกล่าวหา พล.อ.อ.ประยุทธ์ อย่างร้ายแรง ตอนหนึ่งระบุว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันกว่า 19 เดือนเศษ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รวมศูนย์อำนาจ  รวบอำนาจและมีอำนาจตามกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จทั้งในฐานะนายกฯ รมว.กลาโหมผู้กำกับการปฏิบัติงานตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประธานกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผอ.ศบค. ประธานศูนย์บริหารสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ (ศบศ.) และ ผอ.ศบค.กทม. 

 

ซักฟอกครั้งสุดท้าย \"บิ๊กตู่-อนุทิน\"อ่วมพิษโควิด-19

 

 

อีกทั้งยังได้รวบอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ถึง 40 ฉบับ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลมาไว้กับตนเอง ต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผยข้อมูลความจริง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคส่วนในการเตรียมมาตรการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด และบริการประชาชนโดยทั่วถึง 

 

...ปล่อยปละละเลยต่อมาตรการป้องกันควบคุม การระบาดของโรคในหลายเรื่องจนมีการแพร่ระบาดของโรคจากกลุ่มก้อนเล็กๆ กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็วจนยากที่จะควบคุม จากการกลายพันธุ์ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสายพันธุ์ขึ้นจากเดิม กระทั่งปัจจุบันการแพร่ระบาดดังกล่าวเข้าไปสู่ชุมชนและครัวเรือน ส่งผลให้เพียงระยะเวลา 4 เดือนเศษ มีผู้ติดเชื้อเกือบเก้าแสนคน และเสียชีวิตกว่าเจ็ดพันคน ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรายวันก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะที่มาตรการในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่าการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง“ภูมิคุ้มกันหมู่” ดังนั้น มีหน้าที่และอำนาจในการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักจริยธรรมและหลักวิชา การเพื่อฉีดให้กับประชาชนโดยทั่วถึงและรวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้“ประชาชนทุกคนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนต้องได้ฉีด” รวมถึงวัคซีนทางเลือกอีกหลายประเภทที่ประชาชนต้องการ แต่ที่ปรากฏคือความล่าช้า เลื่อนลอย ไม่แน่นอนว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนทางเลือกหรือไม่      

 

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ดังกล่าวกลับพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการแผ่นดินโดยไม่สุจริต มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริตต่อหน้าที่ในหลายเรื่องทั้งการจัดหาวัคซีนที่มีพฤติการณ์ปิดบังอำพราง ไม่โปร่งใส ตรวจสอบ ไม่ได้ ไม่ทั่วถึง เลือกปฏิบัติ และไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ถูกกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์ขาดซึ่งองค์ความรู้ ไร้ซึ่งภูมิปัญญาและความสามารถในการกำกับดูแลงานด้านสาธารณสุขของประเทศ มีพฤติกรรมคุยโม้โอ้อวดทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฉ้อฉล หลอกลวงประชาชนส่งผลให้การบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง 

 

โดยเฉพาะการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ดังเช่นโรคโควิด-19 ที่เป็นวิกฤติของชาติอยู่ในปัจจุบัน โดย นายอนุทินขาดสติปัญญา ประเมินความรุนแรงและผลกระทบของโรคนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรง โดยเห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาเป็นและหายได้เอง ประเมินว่าเป็น “โรคกระจอก” จึงปล่อยปละละเลยในการเตรียมความพร้อม ด้านสาธารณสุขและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโดยเฉพาะวัคซีน 

 

จนทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และรุนแรง ประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานในปริมาณที่เพียงพอ โดยการจัดหาวัคซีนเป็นไปอย่างล่าช้า และได้วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการ ป้องกันโรค มุ่งเน้นแต่จะจัดหา “วัคซีนลึกลับ” แต่ด้อยคุณภาพ 

 

ญัตติฝ่ายค้านยังระบุว่า นายอนุทิน มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์จากการจัดหาวัคซีน และการกระจายวัคซีนโดยมิได้คำนึงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและโอกาสของประชาชนในการได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม  ซึ่งเป็นการกอบโกยผลประโยชน์บนคราบนํ้าตาและความเป็นความตายของประชาชน

 

ขณะที่ในการประชุมครม. เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรารภในที่ประชุม ต่อ ครม.ว่า ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ประชาชนได้รับทราบ และขอให้พรรคร่วมมีความรักสามัคคีกัน