กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมศบค.ประกาศ “คลายล็อกดาวน์” 7 เรื่องสำคัญ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป ประกอบด้วย
1.ให้นั่งทานอาหารในร้านได้ 50-70% ของที่นั่ง
2. เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์
3. เปิดร้านเสริมสวยและนวดฝ่าเท้า
4. เปิดบริการสวนสาธารณะ สนามกีฬา
5.เปิดใช้อาคารสถานศึกษา แต่ไม่ให้เปิดการเรียนการสอน
6.จัดกิจกรรมรวมกลุ่มได้แต่ไม่เกิน 25 คน
7.เปิดให้เดินทางระหว่างจังหวัดได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนการควบคุมไม่ให้ออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.ยังคงเหมือนเดิมนั้น
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์ ทั้ง 7 เรื่องนี้ นับเป็นการเปิดให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจและการค้าเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เมื่อเกิดการซื้อขายขึ้นต่อเนื่อง จะนำไปสู่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น พืชผัก เนื้อสัตว์ สินค้าต่าง ๆ เป็นต้น หวังว่าจะส่งผลต่อ SME และเกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำต่อไป
“มาตรการทั้ง 7 เรื่องนี้ให้น้ำหนักกับชีวิตและธุรกิจของคนเมืองมากกว่าคนชนบท เมื่อเปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าได้ ก็น่าจะเปิดตลาดชุมชนในชนบทได้ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าและเกษตรกร สามารถนำผลผลิตของตนเองไปขายสร้างรายได้เพื่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้บ้าง”
การ “คลายล็อกดาวน์”ที่ประกาศนี้ น่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อผ่อนคลายให้เศรษฐกิจขยับตัวได้ แต่ยังคงระมัดระวังมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดอยู่ ถือได้ว่ารัฐบาลพยายามหา “จุดสมดุล” ระหว่างมาตรการทางเศรษฐกิจกับมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยและประเทศไทยสามารถอยู่กับไวรัสโควิด-19 ได้
“ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง คือ มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดต้องเอาจริงเอาจังต่อไป ตั้งแต่การเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน การเร่งฉีดวัคซีนให้เร็ว การปรับระบบการดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation / Community Isolation, ศูนย์พักคอย, โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมไปถึงการกระจายยารักษาไวรัสโควิด-19 คือ ฟ้าทะลายโจรที่มีคุณภาพ ราคาถูก ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการรักษา และเข้าถึงได้ง่าย ฟ้าทะลายโจรผลิตได้ในประเทศ ในขณะที่ยา Favipiravir ราคาแพงกว่า และยังผลิตได้จำนวนจำกัดในประเทศ”
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังต้องทำงานเชิงรุกเพื่อจัดการกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด “คลัสเตอร์ใหม่” เช่น โรงงานขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จนถึงบ่อนการพนันต่างๆ ที่ยังคงลักลอบกันเปิดอยู่ เป็นต้น เพราะการเกิดคลัสเตอร์ใหม่เป็นเหตุผลสำคัญของการประกาศ “ล็อกดาวน์” และเราต้องเตรียมตัวรับกับการกลายพันธุ์ของไวรัส จากสายพันธุ์เดลต้าไปเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมและติดง่ายมากขึ้น
“ถ้าเป็นเช่นนั้นวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ที่ฉีดไปแล้วจะมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรคได้แค่ไหน รัฐบาลจะต้องเตรียมมาตรการทางการแพทย์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ว่าจะจัดการกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างไร ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วคอยวิ่งตามแก้ปัญหาเช่นที่ผ่านมา”
ประเด็นสุดท้ายที่ขอฝากถึงรัฐบาล คือ การประกาศ “คลายล็อกดาวน์” เป็นการประกาศทางนโยบาย ส่วนการปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายของนโยบายคือ “เศรษฐกิจเดินหน้า และควบคุมการระบาดไปพร้อมกัน” ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่มีวินัยและเป็นระบบ ไม่ใช่ประกาศนโยบายแล้ว ถือว่าทุกอย่างจบแล้ว เพราะมันจะนำ “ความล้มเหลว” มาให้อีกครั้ง