พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha " โดยได้บอกเล่าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโควิด -19 จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และรัฐบาลก็เตรียมเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามนโยบาย "พลิกโฉมประเทศไทย” ด้วยแนวทาง 5 ด้านที่ได้วางไว้
พร้อมกันนั้นก็ได้ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการพบปะประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ให้กำลังใจ และแก้ปัญหาเพื่อการวางแผนผลักดันให้พื้นที่ต่างๆเจริญก้าวหน้า
สำหรับเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดที่นายกรัฐมนตรีโพสต์มีดังต่อไปนี้
“เดินหน้าพลิกโฉมประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
ประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆในโลก ต่างต้องประสบกับปัญหาโควิดมาเป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่จนสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ และได้จัดหาวัคซีนเข้ามาระดมฉีดให้พี่น้องประชาชนได้ตามเป้าหมาย จนผมเชื่อมั่นว่า ต่อจากนี้เราจะสามารถเดินหน้าฟื้นฟูประเทศได้อย่างมั่นคง ตามแผนการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลได้วางไว้ ไปสู่การ “พลิกโฉมประเทศไทย” ทั้ง 5 ด้านสำคัญ นั่นคือ
1. การปรับโครงสร้างการผลิตให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม ตอบสนองแนวโน้มเทคโนโลยีและการค้าโลก ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
2. การพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกใหม่ สร้างทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ยกระดับโรงเรียนและครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง
3. การสร้างสังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เพิ่มสวัสดิการให้ประชาชนและผู้ขาดโอกาสได้เข้าถึงเท่าเทียมกัน
4. การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสีเขียว
5. การเตรียมพร้อมให้กับประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั่วประเทศ และยกระดับการบริการภาครัฐด้วยระบบดิจิทัลในทุกมิติ
ซึ่งจากนี้ต่อไป รัฐบาลจะเร่งดำเนินการนโยบาย “พลิกโฉมประเทศไทย” ทั้ง 5 ด้านนี้อย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนทุกคน และผมจะเป็นผู้ติดตามดูแลและรายงานความก้าวหน้าในแต่ละด้านให้ทุกท่านได้ทราบอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญเฉพาะหน้า และเป็นทั้งต้นทุนชีวิต และต้นทุนการขับเคลื่อนประเทศ นั่นคือเรื่อง “ทรัพยากรน้ำ” ซึ่งเป้าหมายของเราคือการสร้างสมดุลให้ครบวงจร ตั้งแต่ “ต้นทาง” เช่น การอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ การประปาเมือง-ประปาชุมชน “กลางทาง” เช่น น้ำอุปโภคบริโภคของชาวเมือง ระบบชลประทานเพื่อภาคการผลิตเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้า ธนาคารน้ำใต้ดิน และการเก็บกักไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี และ “ปลายทาง” เช่น การเร่งระบายลงสู่ทะเล โดยไม่สร้างผลกระทบ หรือท่วมขัง
ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะมีการกระจายอำนาจ งบประมาณ และโครงการต่างๆ ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังจำเป็นต้องบูรณาการกับแผนงานและโครงการของรัฐบาล ที่เป็นส่วนกลางด้วย เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการพัฒนาและแก้ปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ
ดังนั้นในช่วงบ่ายวันนี้ ผมจึงได้ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ โดยในครั้งนี้ ผมได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานเร่งหาข้อสรุปเรื่องคลองระบายน้ำหลาก D1 เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำหลากจากลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
โดยให้เกิดความสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จ.เพชรบุรี และแผนหลักพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) รวมทั้งได้มอบนโยบายให้เร่งพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดให้เป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (สับปะรด-มะพร้าว และพื้นที่เกษตรกว่า 3 ล้านไร่) และเป็นเมืองจุดหมายการท่องเที่ยว (ชะอำ-หัวหิน-ปราณบุรี) ระดับ World Class Destination รองรับการเปิดประเทศในอนาคตด้วย
นอกจากเรื่องการจัดการน้ำแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการจัดทำผังเมืองและการพัฒนาเมืองในทุกระดับอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการขยายเมือง การใช้สอยพื้นที่ และการสร้างทางต่างๆ ในอดีต มีหลายโครงการที่ไม่มีแบบแผน และขวางลำน้ำธรรมชาติ จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังเขตเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ
ดังนั้นแผนของรัฐบาลในการผลักดันหลายเมืองให้เป็น "เมืองอัจฉริยะ" เช่น ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวยั่งยืน ขอนแก่นเมืองนวัตกรรม แม่เมาะเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ สามย่านสมาร์ทชิตี้ และวังจันทร์วัลเลย์ ที่เป็นฐานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จึงได้มีการพิจารณาวางผังเมืองอย่างระมัดระวังให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระยะยาว และการแก้ปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่
โดยต้องเป็น "การระเบิดจากข้างใน" คือ เน้นการมีส่วนร่วม สะท้อนความต้องการและความพร้อมของแต่ละเมืองและชุมชน ตามภูมิสังคมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย
ในช่วงเวลาผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้ผมไม่ได้ลงไปพบปะกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เท่าที่ผมอยากจะไป แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ผมจึงไม่ลังเลที่จะไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในจังหวัดต่างๆด้วยความคิดถึงและห่วงใย เพื่อรับฟังความคิดเห็น รวมถึงให้กำลังใจทุกท่าน และทำทุกทางที่ผมทำได้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และเพื่อการวางแผนผลักดันให้พื้นที่ต่างๆเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ความมุ่งหมายของผมมีสิ่งเดียว ซึ่งเหมือนกับพี่น้องประชาชนทุกคน นั่นคือการได้เห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติมั่นคง แข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ และผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าไทยเราทำได้อย่างแน่นอน หากเราทุกคนจับมือแล้วก้าวไปพร้อมกันครับ