นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการวัดพลังกันในช่วงลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำท่วม ว่า ตนไม่ขอมองในส่วนของพลังประชารัฐตามที่ปรากฏเป็นข่าว
แต่ในส่วนประชาธิปัตย์นั้น ตนก็มี “จุรินทร์ออนทัวร์”สำหรับลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และจะเดินหน้าเพื่อลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน ทั้งใน 2 ภารกิจ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในการที่จะลงไปทำกิจกรรม
ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการปิดสมัยประชุมสภา ก่อนที่จะเปิดสมัยประชุมในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ก็ได้เตรียมการ “จุรินทร์ออนทัวร์” ไปใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน และกรุงเทพมหานคร โดยจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ทั้งในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการลงพื้นที่ของหลายๆ พรรค เป็นสัญญาณการยุบสภาในเร็วๆ นี้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบล่วงหน้าเรื่องการยุบสภา และก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะอำนาจอยู่ที่ท่านนายกฯ เหมือนที่ย้ำมาหลายรอบ แต่ในฐานะรัฐบาลผสม ก็คิดว่าถ้าจะมีสัญญาณ หรือ ถ้าจะมีการตัดสินใจอะไรนั้น ก็คงจะได้มีการแจ้งหรืออย่างน้อยก็หารือกับพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสมแล้วก็ทุกพรรค แม้เสียงไม่เท่ากัน แต่ความสำคัญก็ไม่น่าจะถึงกับแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นก็คิดว่าท่านนายกก็น่าจะถือหลักนี้อยู่แล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาเวลามีอะไรท่านก็จะหารือมาตลอด
ผู้สื่อข่าวถามถึงการตีความในเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต้องไม่เกินแปดปีนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าผู้ใดสงสัยก็สามารถยื่นตีความได้ เพราะถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายก็สามารถทำได้ ตนคิดว่าถ้าสงสัยมากก็ลองตรวจสอบดูก็ดีจะได้หายข้อสงสัย แต่สำหรับประชาธิปัตย์ไม่มีข้อสงสัย
สำหรับเรื่องการจัดทำกฎหมายลูกนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ตั้งคณะทำงานแล้ว และกำลังยกร่างซึ่งคาดว่าคงไม่นาน เพราะมีประเด็นที่เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า จะมีประเด็นอะไรบ้างที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในกฎหมายลูกเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอให้คณะทำงานไปดูกัน เพราะอาจจะต้องมีการปรับทางกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองควบคู่กันไปด้วย ว่าประเด็นไหนอยู่ตรงไหน และคงจะต้องเป็นความเห็นที่อย่างน้อยสอดคล้องกันเบื้องต้นระหว่างพรรคการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือฝ่ายค้านก็ตาม ซึ่งยังไม่ขอตอบลึกลงไปในรายละเอียด
ส่วนเรื่องการยื่นตีความรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ต้องถือว่าขั้นตอนการแก้ไข ถ้ามันมาถึงจุดที่ครบกำหนด 15 วันแล้ว ที่ ส.ส. หรือ ส.ส.กับ ส.ว. หรือ ส.ว. สามารถเข้าชื่อกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบโดยธรรมนูญ เมื่อผลเวลากำหนดแล้ว ตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ประธานรัฐสภาที่จะส่งเรื่องไปให้ท่านนายกฯ ซึ่งท่านนายกฯ จะต้องใช้ดุลพินิจในการดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ