ตำรวจรวบยกแก๊งทุจริตลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 สถานีกลางบางซื่อ  

27 ก.ย. 2564 | 06:59 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2564 | 14:08 น.

“ผบช.ก.-ตำรวจรถไฟ”พร้อมกำลังบุกตรวจค้นจับแก๊งทุจริตลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 สถานีกลางบางซื่อ 7 ราย เผยเรียกเงินตั้งแต่ 200-1,000 บาท รายได้สูง 3-4 ล้านบาท

วันนี้(27 ก.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผบก.รฟ และคณะทำงานได้รวบรวมพยานหลักฐานร่วม 2 เดือน ก่อนยื่นคำร้องศาลออกหมายจับ กลุ่มบุคคลร่วมทุจริตลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อ

 

เบื้องต้น พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผบก.รฟ. พร้อมชุดสืบสวน บก.รฟ. ได้แบ่งกำลังตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ในสถานที่ต่าง ๆ หลายจุดด้วยกัน โดยหนึ่งในหลายจุด เข้าตรวจค้นอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ก่อนเข้าจับกุม 2 ชายหญิงภายในห้องพักดังกล่าว ก่อนนำตัวสอบสวน

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ต้องหาทั้งสองคน ถือเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในการทุจริตการลงทะเบียนวัคซีนโควิด- 19 จากการให้บริการวอล์กอิน ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยทางศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ พบความผิดปกติในการลงทะเบียน จึงได้ทำการสืบสวนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพบว่า ผู้ที่จ่ายเงินซื้อคิวลงทะเบียนจากกลุ่มผู้ต้องหา จะเดินทางเข้ามารับบริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยพบว่า ผู้ที่ลงทะเบียน 600 คน จากจำนวนทั้งหมดกว่า 2,000 คน ยอมจ่ายเงินซื้อคิวฉีดวัคซีน

 

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้วางแผน โดยใช้วิธีการยกเลิกฉีดวัคซีนทั้งหมดจำนวนกว่า 2,000 คน เพื่อให้เกิดปัญหาการร้องเรียน และเข้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งพบข้อเท็จจริงทั้งหมดจากผู้ที่ถูกยกเลิกฉีดวัคซีน จึงได้ให้ทางนิติกรเข้าแจ้งความกับทางตำรวจ สน.นพวงศ์

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงผลปฏิบัติการของตำรวจ หลังช่วงเช้าได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหา 7 ราย จากการก่อเหตุ แฮ็กเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมรายชื่อผู้มีสิทธิที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด -19 เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้มีรายชื่อดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่จะทำการฉีดวัคซีนให้

 

จากข้อมูลพบว่า รายชื่อที่กลุ่มผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบมีมากกว่า 1,000 รายชื่อ โดยมีการเรียกเก็บเงินในการเพิ่มรายชื่อ รายละ 200-1,000 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนสอบสวนพยานกว่า 200 ปาก ก่อนจะยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญาผู้ต้องหา 7 ราย โดยผู้ต้องหาบางรายเป็นพนักงานว่าจ้างนอกระบบเครือข่ายบริษัทมือถือ

 

ผู้ต้องหาทั้งหมด ถูกแจ้งข้อหา “ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ ,ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยร่วมกันกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกง”

 

ทั้งนี้ นายอนุทิน ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าวัคซีน และ ค่าดำเนินการใดๆ ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ

 

ขณะเดียวกันได้นำผู้ต้องหา 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่ลงมือเพิ่มรายชื่อผู้มีสิทธิฉีดวัรซีนเข้าไปยังระบบ ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพในจุดที่ใช้ลงมือก่อเหตุ

 

โดย 1 ใน 2 ผู้ต้องหา สารภาพว่า การกระทำไม่ได้เป็นการตัดโควต้าของประชาชนทั่วไป ในแต่ละวันผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือจะมีโควต้าในการใช้ลงทะเบียนจำนวนมาก ตนจึงใช้ตรงจุดนี้ในการลงทะเบียนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายวัคซีนทำให้ปริมาณวัคซีนในแต่ละวันมีจำนวนเพียงพอที่จะเพิ่มจำนวนตามความต้องการ

 

เริ่มแรกเป็นการลงทะเบียนให้กับคนรู้จักเพื่อที่อยากจะช่วยให้ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว จากนั้นก็มีคนมาติดต่อให้ตนลงทะเบียนการฉีดวัคซีนให้กับคนอื่น โดยให้ค่าจ้างหัวละ 200-300 บาท ก่อนที่คนที่มาจ้างตนจะนำไปบวกค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก อย่างน้อย 3 ทอด โดยจับว่ามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงสุดถึง 1,000 บาทในแต่ละคน ซึ่งในส่วนของตนเองตลอดเวลาที่ทำการทุจริตได้เงินไปประมาณ 3-4 ล้านบาท ส่วนเงินที่ได้นำไปใช้จ่ายหนี้สินที่เกิดจากช่วงภาวะการระบาดของเชื้อโควิด 19 เนื่องจากว่ารายได้ที่ได้จากการทำงานสุจริตได้เพียงวันละ 500 บาท