วันนี้(29 ก.ย.64) ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยมีแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมประชุม
ภายหลังการประชุม นายประเสริฐ กล่าวถึงวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่ประชุมมีความเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 158 รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้ชัดเจนว่า นายกฯ มีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจนานเกินไป และเป็นประเด็นในอนาคตอาจต้องมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกฯ นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 เขียนชัดว่า นายกฯจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ฝ่ายค้านแทบจะไม่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่ประการใด เพราะชัดเจนในตัวมันเองแล้ว
ถ้าตีความแบบฝ่ายค้านตีความ ต้องนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญยังระบุว่า ครม.ที่เป็น ครม.อยู่ก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งนี้ ในการยื่นร้อง ถ้าไม่มีเหตุเกิดขึ้น ศาลก็คงจะไม่น่ารับไว้ เราจึงจะไม่ยื่นในขณะนี้ เพราะยื่นไว้คงไม่เกิดประโยชน์ เราจะพิจารณาเรื่องนี้เมื่อมีเหตุแล้ว
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กฎหมายเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน คนที่ตีความเป็นอย่างอื่นเป็นการทำลายกฎหมายสูงสุด ถ้าถึงเวลานายกฯ ต้องพิจารณาตนเอง ไม่เช่นนั้นท่านจะเป็นคนที่ใช้ประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม และที่สำคัญคือ เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ
ขณะที่นายชัยธวัช กล่าวว่า คิดว่าประเด็นนี้อย่างน้อยต้องดูจากบทบัญญัติที่ยึดโยงกันอย่างน้อย 3 มาตรา คือมาตรา 158 ระบุไว้ชัดเจน ซึ่งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ทำเอกสารอธิบายความมุ่งหมายไว้ชัดเจนว่า เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤติทางการเมือง และหากเรายังปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจนานเท่าไหร่ก็จะเป็นปัญหาทางการเมือง จนเกิดวิกฤติ
นายชัยธวัช กล่าวว่า มาตรา 170 ซึ่งมาตรานี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ความเป็นนายกฯ ของนายกฯ สิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดระยะเวลา (ตามมาตรา 158) และบทเฉพาะกาล มาตรา 264 มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ
1.ครม.ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ก็ให้ถือเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย
และ 2.หากเราดูบทเฉพาะกาลมาตรานี้ จะมีการยกเว้นลักษณะต้องห้าม และเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี แต่ไม่มีมาตราไหนเลยที่จะยกเว้นมาตรา 170 เรื่องนี้ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้ และการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในตอนนี้โดยไม่จำเป็นจะเป็นการขยายอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินจำเป็น ทั้งนี้ เราหวังว่านายกฯ จะเคารพเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่ตนเองและแม่น้ำหลายๆ สายของตนเองยกร่างเอาไว้
“เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมว่าไม่จำเป็นต้องรอถึงสิงหาคมปีหน้า ทุกวันนี้ผมคิดว่ารัฐบาลทราบดีว่า เราอยากได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วที่สุด ทุกเวลา สิงหาคมปีนี้ยังคิดว่าช้าเกินไป” นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อถามว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช่หรือไม่นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า หากนับการดำรงตำแหน่งเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2557 ก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้แล้ว
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เขาสามารถเสนอได้ ถ้าเป็นลูกพี่ลูกน้องกันอยู่แล้ว แต่ประชาชนต้องตื่นรู้ว่า คุณเป็นรัฐมนตรีได้ไม่กี่วัน 7 ปีบ้านเมืองเราบอบช้ำมามากแล้ว ท่านบริหารประเทศมีแต่ความเหลื่อมล้ำ มีแต่กู้เงินไปใช้แล้วไม่มีอนาคตใช้หนี้ได้ และมีปัญหาสังคมมากมาย วันนี้ต้องเปิดโอกาสให้ผู้นำที่ประชาชนเลือกจะดีกว่า
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากฝ่ายรัฐบาลจะชิงยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ นพ.ชลน่าน ตอบว่า เป็นอำนาจของ กกต.และ ครม.ที่ใช้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญยื่นได้ เราตั้งข้อสังเกตว่าเขาชิงยื่นก่อน ซึ่งเป็นกลไกในการฟอกตัวนายกฯ หรือไม่
“ถ้า กกต.ยื่นอาจจะเป็นเจตนาบริสุทธิ์ เพราะ กกต.จะทราบว่า หากจัดการเลือกตั้งจะมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็น ครม.หรือ กกต.ภายใต้อาณัติยื่น อาจจะตีความว่าเป็นการฟอกตัวได้ เชื่อว่าถ้าหากมีการยื่นจริง มีแนวโน้มว่าศาลจะรับคำร้องไว้แน่ เพราะเคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นต้น”
เมื่อถามว่าหากศาลตีความในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระแล้ว จะเกิดเดดล็อกทางการเมืองหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้ามีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่สิงหาคม 2558 และเมื่อมีการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งไปนั้น มันก็มีผลแน่นอนต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ถามว่าใครจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะ กกต.ที่ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติการเข้ามาสู่ตำแหน่ง
“ย้ำว่าบทบัญญัติกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน และไม่จำเป็นต้องยื่นแต่อย่างใด เมื่อครบ 24 สิงหาคม (2565) มีเจตนารมณ์ดำรงตำแหน่งต่อ เราถึงจะมีหน้าที่ เพราะเราปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาชน” นพ.ชลน่าน ระบุ