ปชป.จี้“คลัง”เร่งงบ“ประกันรายได้ ปี 3” ล่าช้าส่งผลกระทบราคาข้าว

24 ต.ค. 2564 | 05:29 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2564 | 12:41 น.

“ทีมเศรษฐกิจทันสมัย” ปชป. จี้ “คลัง” เร่งพิจารณางบ “ประกันรายได้ ปี 3” หวั่นหากอนุมัติช้า อาจส่งผลกระทบราคาข้าว

 

วันนี้(24 ต.ค.64) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 โดยนโยบายประกันรายได้เกษตรกรถือเป็นนโยบายหลัก 1 ในเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศเดินหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดขัดอยู่ที่กระทรวงการคลังยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเรื่องงบประมาณ ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวในปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ

 

นายปริญญ์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเป็นการจ่ายเงินส่วนต่างให้เกษตรกร ถือเป็นการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้พี่น้องเกษตรกร โดยที่ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด และไม่สร้างความเสียหายในภายหลัง การที่นายจุรินทร์ ให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกร จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก และทีมเศรษฐกิจทันสมัยก็ได้สนับสนุนแนวทางดังกล่าวมาโดยตลอด การที่รัฐบาลประกาศนโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายหลักและคณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นชอบมาตลอดระยะเวลา 2 ปี กระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม ฉับไว ตามแนวทาง “ทำได้ไว ทำได้จริง” ของนายจุรินทร์

                         

 

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศที่ทำได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ แต่ประเทศไทยไม่ได้ถังแตก ไม่ได้ขาดเงินหรือขาดงบประมาณแต่อย่างใด โดยเห็นได้จากการออก พ.ร.ก.1 ล้านล้าน และพ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน รวมไปถึงการขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 70% และจะมีเงินกู้เพิ่มเติมอีก เม็ดเงินเหล่านี้จึงจำเป็นจะต้องใช้ให้ทันท่วงที และตรงกับกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากวิกฤติโควิด ซึ่งรวมถึงกลุ่มพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ส่งออกข้าวด้วย

 

“เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ข้าวราคาตก ถ้าเราช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในระยะสั้นเหมือนที่ทำมาแล้วในโครงการประกันรายได้ ปีที่ 1 และปีที่ 2 ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ ท่าน รมว.คลัง มีความเข้าใจในบริบทและกฎหมายดีอยู่แล้วว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีที่ต้องเซ็นอนุมัติงบประมาณให้จ่ายออกมาเป็นเงินส่วนต่างสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที แม้ในการอนุมัติโครงการของปีที่ 1 และปีที่ 2 จะมีความล่าช้าทำให้ต้องมีการดำเนินการจ่ายย้อนหลังอยู่บ้าง แต่สำหรับในปีที่ 3 หากมีความล่าช้าในการจ่ายเงินประกันรายได้จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าว และกระทบข้าวที่กำลังจะออกมาในเดือนพฤศจิกายน สร้างความเจ็บปวดให้พี่น้องเกษตรกรมากขึ้นไปอีก” นายปริญญ์ กล่าว

                  

 

ทั้งนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวแทนเกษตรกรจาก อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ได้ร้องเรียนถึงทีมเศรษฐกิจทันสมัย โดยขอให้ ครม. ได้เร่งดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 3 การจ่ายเงินส่วนต่างล่าช้านอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อมาตรการคู่ขนานที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรกร หรือที่เรียกว่า “ค่าเก็บเกี่ยว”

 

ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ จนถึงปัจจุบันเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด หากไม่จ่ายเงินประกันรายได้ จะกระทบโครงการคู่ขนานตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลลบที่เกิดเป็นห่วงโซ่ เป็นวัฎจักรที่กระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ กระทรวงการคลังจึงไม่ควรล่าช้าในการอนุมัติเม็ดเงิน เพื่อมาจ่ายให้ทันท่วงที และต้องเร่งทำการเบิกจ่ายให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน

 

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายประกันรายได้ สินค้าเกษตร 5 ชนิดนี้ ถือว่าเป็นนโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์ และใน 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 7.67 ล้านครัวเรือน นโยบายดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและวางแผนในการดำเนินชีวิตได้

 

“ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ขอให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณา เนื่องจากมีเกษตรกรที่กำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่กำลังรอคอยอยู่พร้อมกับชื่นชมนโยบายนี้ว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะเป็นนโยบายที่ช่วยประกันรายได้ให้เกษตรกร หากดำเนินการพิจารณาล่าช้า ก็ทำให้พี่น้องเกษตรกรเกิดความไม่เข้าใจ พร้อมกับเกิดความไม่มั่นใจว่าจะดำเนินโครงการต่อไปหรือไม่อย่างไร จึงอยากให้ออกมาสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องดังกล่าวด้วย

 

เพราะจากการลงพื้นที่ก็พบว่ามีพี่น้องเกษตรสอบถามกันมามาก เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ และพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ต้องการเดินหน้าโครงการประกันรายได้เป็นปีที่ 3 ตามนโยบายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นระบบ จึงอยากให้ รมว.คลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพูดคุยและเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้พวกเขาได้มีการเตรียมความพร้อมรวมถึงวางแผนการเพาะปลูกไปพร้อม ๆ กัน”

 

นางดรุณวรรณ กล่าวด้วยว่า ข้าวไทยไม่เป็นสองรองใคร แต่เป็นที่ทราบดีว่าราคาสินค้าเกษตรนั้นแกว่งตัวตามอุปสงค์ อุปทาน ที่ส่วนใหญ่มาจากความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ที่ความต้องการในตลาดสินค้าเกรดพรีเมียมบางเวลาอาจจะลดลงเพราะกำลังซื้อต่ำลง รวมถึงคู่แข่งในเรื่องข้าวมีมากขึ้นทั้งเวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ อินเดีย ในระยะยาวจึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อแข่งขันต่อไป ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้ความรับผิดชอบของพรรคได้ดำเนินการร่วมกันมาโดยตลอด