ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ (5 พ.ย.64) นายศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบ กรณีที่ปรากฏคลิปในโซเชียลมีเดีย ว่า นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) อาจมีพฤติการณ์ช่วยผู้สมัครนายก อบต. และทีมผู้สมัครสมาชิกสภา อบต. หาเสียง “เลือกตั้ง อบต.” ในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เพราะแม้นายวีระกร จะออกมาปฏิเสธว่า เป็นเพียงการอวยพรผู้สมัครและทีมงานผู้สมัคร และเป็นการลองไมค์ ไม่มีเจตนาหาเสียง แต่คลิปดังกล่าว เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และเป็นการจงใจการกระทำใดที่อาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 หรือไม่
“เป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต. ที่จะต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ และหากเป็นการฝ่าฝืน ก็ต้องรีบสั่งให้หยุดดำเนินการ เพราะหากชักช้าอาจทำให้การ “เลือกตั้ง อบต.” ที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ และที่สำคัญจะเป็นหลักฐานที่สามารถนำไปร้องเรียนเอาผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองต่อไปได้” นายศรีสุวรรณ ระบุ
ขณะที่ นายวีระกร คำประกอบ ได้แถลงชี้แจงกรณีถูกว่ากล่าวหาว่าไปช่วยผู้สมัครเลือกตั้งนายก อบต. รายหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์หาเสียง ตามที่ปรากฏในคลิปว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (31 ต.ค.) ซึ่งเป็นความบังเอิญที่ตนเองไปเจอกับกลุ่มผู้สมัคร อยู่ภายในบ้านพักของตัวผู้สมัครเอง และโดยรอบพื้นที่ก็เป็นป่า ไม่มีประชาชนมาฟังการปราศรัยมีเพียงทีมงานเท่านั้น จึงมีการทดสอบเครื่องเสียงและพูดให้กำลังใจผู้สมัครและทีมงาน เนื่องจากรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่ใช่การหาเสียงที่ถูกกล่าวหา
“ยืนยันไม่ได้ทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง อีกทั้งผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม ก็ไม่ได้มีการร้องเรียนแต่อย่างใด เพราะรู้ว่าไม่ได้เป็นการหาเสียง”
ทั้งนี้ นายวีระกร ยังขอให้ทางกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่นำเรื่องนี้มาเปิดเผย ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และดำเนินการเพื่อป้องกันการไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงดีกว่ามาจับผิดกัน
ส่วนอีกกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นการพูดต่อหน้าประชาชนยืนยันว่า คลิปดังกล่าวเกิดขึ้นนานแล้วก่อนที่จะมีกฤษฎีกาเลือกตั้ง อบต. และเป็นเพียงการนำของไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเท่านั้น แต่มีคนไปตัดต่อ รูปของนายวรวิทย์ ตันวิสุทธิ์ ผู้สมัครนายกฯ อบต. รายหนึ่ง มาตัดต่อ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการช่วยหาเสียง ตนจึงแจ้งให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายไปดำเนินคดีแล้ว
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต อดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊คเรียกร้องให้ กกต.พิจารณาหลังมีคลิปนายวีระกร ช่วยหาเสียง อบต. โดยระบุว่า คลิปชัดเจนร้องต่อกกต.ได้เลย กกต.ต้องพิจารณาและวินิจฉัย และสั่งให้หยุดดำเนินการหากผิด พร้อมทำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อพิจารณาลงโทษ
นายสมชัย เห็นว่า ส.ส.ช่วย อบต.หาเสียงไม่ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 34 ห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด และมาตรา 69 ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใด ๆ อันเป็นคุณหรือโทษ ต่อผู้สมัคร โดยมาตรา 34 กกต. ทราบต้องสั่งให้หยุดกระทำ
นายสมชัย เห็นว่า แม้กฎหมายจะเขียนมาไม่เข้าท่า แต่ถ้ามีอยู่ก็ต้องปฏิบัติ ต้องบอกว่ามาตรา 34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ไม่เข้าท่าจริง ๆ พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครท้องถิ่นได้ แต่ห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. ไปช่วยหาเสียง เป็นอะไรที่ขัดธรรมชาติ กฎหมายที่ขาดความเข้าใจสังคมการเมืองฉบับนี้เกิดขึ้นในยุค คสช. มี สนช.หรือสภานิติบัญญัติที่ คสช.แต่งตั้งเป็นผู้ผ่านกฎหมาย โดยในใจขณะนั้นอาจเกรงว่า ส.ส.จะเข้าไปมีอิทธิพลเหนือการเมืองท้องถิ่นเลยห้ามไว้ แถมมีบทลงโทษรุนแรงทั้งจำ ทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิทางการเมืองถึง 10 ปี
“พรรคการเมืองที่รู้เรื่องรู้ราว จึงกำชับกำชาแข็งขันให้ลูกพรรคของตนอย่าเผลอทำผิดกฎหมายข้อนี้ สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน แม้รู้ว่ามาตรานี้เป็นปัญหา กว่า 2 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่เคยใช้บทบาทหน้าที่ตนในการแก้ไขกฎหมายให้เข้าที่เข้าทาง ดังนั้นการที่ ส.ส.พลังประชารัฐคนหนึ่งไปเผลอทดสอบไมค์ยาวๆ ถึงสองเวที เพื่อเชิญชวนให้เลือกนายก อบต.คนนั้นคนนี้ กกต.ต้องเด็ดขาดในการรับเรื่องไปวินิจฉัย ไม่ต้องมีใครร้องเรียน เพราะถือเป็นความปรากฏ เป็นข่าวกันทั่วบ้านทั่วเมืองแล้ว เลขาธิการ กกต. หรือ กกต.ท่านใดท่านหนึ่งสามารถหยิบเรื่องนี้ขึ้นถกในประชุมได้เลย เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้เลย”
นายสมชัย ระบุด้วยว่า จะรอดูใน 1 สัปดาห์ หาก กกต.ไม่ยกเรื่องนี้เป็นความปรากฏ ให้ระวังความผิดเรื่องการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่