ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีครูสาวโรงเรียนแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพหนังสือลาออก พร้อมข้อความสรุป หมดความอดทนกับการทำเอกสารประเมิน ตั้งใจสอน แต่แพ้คนทำเอกสารปลอมว่า เป็นการฉายภาพความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ซึ่งตนเคยสะท้อนไปหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับภาระงานของครู ว่าเป็นกับดักอันตรายที่ฉุดคุณภาพการศึกษาไทย
เนื่องจากภาระครูในเรื่องเอกสารไม่เคยลดลง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ระบบกำหนดให้ต้องทำทั้งงานวัดผล งานวิชาการ งานธุรการ งานงบประมาณ ฯลฯ แทนที่จะให้เวลาครูได้ทำงาน ในเรื่องการพัฒนาการเรียน การสอน อาทิ งานหลักสูตร งานแนะแนว ถ้าไม่แก้ไขเรื่องเหล่านี้ จะมีครูดี ๆ อีกจำนวนมาก ที่ทนไม่ไหวกับระบบที่เป็นอยู่ จนต้องเดินจากอาชีพแม่พิมพ์ของชาติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากฝากเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพครู มีสามประการ คือ
1.ควรมีการรวบรวมข้อมูล “การขาดแคลนครู” ทั้งในสาระวิชาและโรงเรียน มาใช้บริหารบุคลากรทางการศึกษา ความพยายามทางนโยบายในลักษณะนี้จะสำเร็จได้ ต้องปฏิบัติเงื่อนไขสำคัญ คือ หนึ่ง ข้อมูลสถานภาพครู (ทั้งสาระวิชาและจำนวน) ต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถบอกได้ว่า บัญชีสถานภาพครูทั้งประเทศที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ศ.น.) ถืออยู่ในมือเป็นอย่างไร และการมีครูจริงในแต่ละโรงเรียนตรงกับบัญชีนั้นหรือไม่ เมื่อตรวจสอบข้อมูลจริงแล้ว จะเห็นว่าความเป็นจริงกับข้อมูลไม่ตรงกัน ตั้งแต่จำนวนครูไม่ตรงกัน การบรรจุครูสาระวิชาไม่ตรงกับตำแหน่งที่มี เป็นต้น
2. กระทรวงศึกษาธิการ ควรต้องรื้อ “ระบบแรงจูงใจ” และ “ค่าตอบแทน” ใหม่ เพื่อเก็บรักษาครูเก่ง ครูคุณภาพ ไว้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาสในที่ทุรกันดารให้นานที่สุด
และ 3. การร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผลิตครูที่สามารถส่งความรู้และทักษะให้นักเรียนได้ เป็นแนวความคิดที่ดี เพราะการผลิตครูในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เน้นสร้าง “นักบริหารการศึกษา” มากกว่าสร้าง “ครู” ที่จะสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้ “คณะศึกษาศาสตร์” ตามมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะทางการศึกษา เช่น การบริการการศึกษา, การวัดประเมินผลการศึกษา, นโยบายการศึกษา เป็นต้น ส่วนหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนโดยตรงมีน้อยมาก
ดังนั้น ประเด็นการปฏิบัตินโยบายผลิตครูให้มีคุณภาพในการเรียนการสอน คุรุสภาไม่ควรทำหน้าที่เพียงการออกใบประกอบวิชาชีพครูเป็นหลัก แต่จะต้องเป็นสมองให้กับกระทรวง ที่จะศึกษาวิจัยและพัฒนาเนื้อหาสาระวิชาและวิธีการสอนของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น เพื่อนำไปปรับปรุงหลักสูตรผลิตครูให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม นอกจากนี้คุรุสภาควรต้องสนับสนุนกระทรวงในเรื่อง “การพัฒนาครูประจำการ” ด้วยการนำครูที่สอนอยู่แล้ว กลับมาพัฒนาเพิ่มเติมทั้งในด้านสาระวิชา และด้านวิธีการสอน โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อคือ
1. ลดการบรรยายในชั้นเรียน เพิ่มการคิดวิเคราะห์และการอธิบายในชั้นเรียน
2. ลดสาระวิชาที่ไม่จำเป็นของสพฐ. เพิ่มสาระวิชาจากบริบทชีวิตของนักเรียน
3. ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน
4. ลดการสอบตามเกณฑ์ เพิ่มการตรวจการบ้านนักเรียนของครู
และ 5. ลดคำสั่งหรือนโยบายสพฐ.ที่ครูต้องปฏิบัติ เพิ่มเวลาครูให้กับนักเรียน