วันที่ 30 พ.ย.2564 การประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณาศึกษา เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ที่มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. เป็นประธานกมธ. ซึ่งวิเคราะห์ถึงเนื้อหาต่อการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. กว่า 9,787 แห่ง ตาม กฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้ อทป. ปี 2542 ซึ่งในปี 2563 พบว่าสามารถถ่ายโอนสำเร็จ 70 แห่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการพิจารณา พบว่าส.ว. ส่วนใหญ่แสดงความเห็นให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. และพิจารณาบนความพร้อมของ อปท. เป็นหลักมากกว่าการกำหนดเป็นเป้าหมายและความสำเร็จในการถ่ายโอน โดยเทียบกับจำนวน พร้อมแสดงความกังวลว่าหากถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. ที่ไม่พร้อมอาจกระทบต่อการบริการกับประชาชนได้
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า การถ่ายโอนภารกิจ เชื่อว่าจะประชาชนจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการส่งต่อการรักษา หาก อปท. ไม่มีเครือข่ายโรงพยาบาลของตนเองแต่ต้องฝากงานให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นการจัดสรรเงิน ซึ่งปัจจุบัน ตาม พ.ร.บ.สปสช. พ.ศ.2545 กำหนดให้ สปสช. เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ รวม 2 แสนล้านบาททั่วประเทศ แต่หากไม่แก้ไขกฎหมายจะทำให้มีปัญหา และที่ผ่านมาพบว่าการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ใช้การส่งต่อผ่านเครือข่ายโรงพยาบาล
ขณะที่ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า ตนทราบว่าอนุกรรมการที่พิจารณาการประเมินการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จะพิจารณาว่า 3,000 แห่งที่โอนภารกิจไป อปท. จะพิจารณาและลงมติในวันนี้ (30 พฤศจิกายน) แต่ไม่ทราบว่าอปท. ที่รับโอนจะมีความพร้อมหรือไม่ ทั้งนี้ในการถ่ายโอน รพ.สต. ตามความเข้าใจของท้องถิ่น ตามรายงานที่เสนอ พบว่า ความสำเร็จการถ่ายโอนขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลและความจริงใจของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสวนทางกับกระทรวงสาธารณสุขที่คำนึงถึงความพร้อมของหน่วยงานที่รับโอน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และ ระบบการส่งต่อคนไข้มากกว่าจำนวนถ่ายโอน
“รพ.สต. ส่วนใหญ่ไม่มีแพทย์ แต่พยายามพัฒนาให้มีแพทย์เพื่อดูอาการคนไข้ตามความเหมาะสม หากเกินกว่านั้นต้องส่งต่อ เพราะรพ.สต. คือการแพทย์ปฐมภูมิ หากตัดตอนยกโครงสร้างพื้นฐาน เงิน และบุคลากร ของรพ.สต.ให้ อปท. ที่มาจากการเลือกตั้ง คือ อบต. หรือ อบจ. ที่ไม่มั่นใจในโครงสร้างอำนาจที่มาจากเลือกตั้ง ที่ เปลี่ยนทุก 3- 5 ปี ทำให้นโยบายการดูแลรพ.สต.เปลี่ยน ดังนั้นขอฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณา เพราะตลอด 20 ปี พบว่าถ่ายโอนไปเพียง 84 แห่ง หากพร้อมต้องโอนได้มากกว่านี้” พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าว
สำหรับงบประมาณ พบว่า รพ.สต. ได้รับเงินจาก สปสช. ต่อหัว 45 บาท เพื่อทำงานส่งเสริม ฟื้นฟู และรักษาสุขภาพ ซึ่งการถ่ายโอนภารกิจจากกระทรวงสาธารณสุขไปยังท้องถิ่น อาจมีปัญหาเรื่องการดูแล ทั้งนี้ตนไม่คัดค้าน แต่ต้องตระหนักให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการกับประชาชน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ
ส่วน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยในหลักการที่ควรถ่ายโอนภารกิจบางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่างให้กับ อปท. โดยต้องพิจารณาผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการบริการ และการรักษาที่ดีขึ้นเป็นหลัก
นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ส.ว. อภิปรายว่า การโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อปท. สิ่งสำคัญคือการออกแบบโครงสร้างจังหวัด ผ่านคณะกรรมการนโยบายสุขภาพจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายกอบจ. และทีมแพทย์ร่วมเป็นกรรมการ และมีภาคประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ตนเห็นด้วยว่าการถ่ายโอนภารกิจต้องหารือร่วมกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาดไทย, สาธารณสุข ให้ชัดเจน เพราะในมิติการถ่ายโอนภารกิจมีหลากหลาย ทั้งการป้องกัน การดูแล และส่งเสริมสุขภาพ
“ผมมีข้อเสนอว่า อปท. ที่พร้อมรับ ต้องเข้าสู่แผนปฏิรูประดับนโยบาย ระดับจังหวัด ร่วมออกแบบระบบสุขภาพระดับจังหวัด นอกจากนั้นต้องสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงต่อการโอนภารกิจไปยัง อปท. ระดับเสมอภาคที่ผ่านการคิด ไม่ใช่การออกคำสั่งโอนย้าย ที่สำคัญคือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม มีบางจังหวัดบอกว่าควรถามประชาชนก่อนว่าจะให้โอนย้ายหรือไม่ เพื่อให้เกิดความราบรื่น แทนการเสนอให้ทำ” นายณรงค์ อภิปราย
ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว. อภิปรายว่า รัฐบาลควรมอบหมายให้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสร้างกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสังคมต่อกรณีดังกล่าว โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เชื่อว่าภารกิจโอนภารกิจจะไม่มีความขัดแย้งรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้าย พบการแสดงความเห็นสนับสนุนให้โอนภารกิจ โดย ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้โอนภารกิจ รพ.สต. ให้ท้องถิ่น ทันที พร้อมระบุว่าอย่าตั้งแง่รังเกียจท้องถิ่น และมองว่านักการเมืองท้องถิ่นมาจากการซื้อเสียง โดยการเลือกตั้งอบต.ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนสามารถคิดและตัดสินใจได้ และพบว่ามีผู้สมัครอบต.หน้าใหม่จำนวนมากได้รับเลือกตั้ง