“นิพนธ์” หนุนสร้าง“นิคมจะนะ”แก้ปัญหาความยากจน

07 ธ.ค. 2564 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2564 | 16:03 น.

“นิพนธ์” หนุนสร้างนิคมจะนะ แก้ปัญหาความยากจน เผยคนส่วนใหญ่เอาด้วย 80-90% เสียงค้านแค่ส่วนน้อย ระบุพูดเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย และอดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะน จ.สงขลา ว่า โครงการนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กฎหมายระบุว่าจะต้องให้มีการทำอีไอเอเสียก่อน ต้องว่ากันไปตามขั้นตอน ตนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว  โดยโครงการนี้มีอยู่ 2 มุม คือ ถ้ากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องไปดูเรื่องสิ่งแวดล้อมและสร้างหลักประกันให้เกิดขึ้น แต่หากบอกว่าพื้นที่นี้ทำอะไรไม่ได้เลยจะต้องมาพิจารณาเหมือนกับการลงทุนทั่วไป ถ้าเอกชนสนใจที่จะลงทุนก็ต้องไปพิจารณาว่าเขาพร้อมทำตามกฎหมายหรือไม่ หากกฎหมายให้ทำอีเอไอ หรือให้ทำอีเอชไอเอ ต้องทำให้ครบถ้วน


ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะคนพื้นที่จะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้หรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า ปล่อยไปตามขั้นตอน ถึงแม้ว่าตนจะเป็นคนในพื้นที่นั้นก็ตาม ขอให้ไปฟังคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดูแล้วกัน ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนมาคัดค้านที่หน้าทำเนียบฯนั้น ต้องขอให้ไปพิจารณาดูด้วยว่าโครงการจะต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอย่างไร เพราะกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่ากรณีไหนต้องทำอีไอเอ กรณีไหนต้องทำอีเอชไอเอ ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบังคับใช้ ความจริงเรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี 59 ก่อนที่รัฐบาลนี้จะมาเสียอีก

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

เมื่อถามว่า กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมาเรียกร้องอยู่หน้าทำเนียบฯ และกล่าวหาว่านายนิพนธ์เองเป็นผู้รวบรวมโฉนดให้กับนายทุน นายนิพนธ์ กล่าวว่า เรื่องที่ดินนั้นหากเอกชนเขาสนใจก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการเหมือนกับเรื่องทั่วๆไป แต่เมื่อรวบรวมที่ดินแล้วต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ดี


เมื่อถามย้ำว่า ตัวนายนิพนธ์ เองมีส่วนเข้าไปรวบรวมที่ดินตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า หลายคนที่ไปรวบรวมก็เป็นสิทธิของเขา เพราะการรวบรวมที่ดินไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าการที่จะทำโรงงานแล้วไม่ทำตามขั้นตอนกฎหมายนั่นถือเป็นประเด็น ส่วนที่กล่าวหาตนว่าเป็นคนรวบรวมที่ดินนั้น หากเขาถามตนว่าเห็นด้วยกับโครงการนี้หรือไม่ ตนเห็นด้วยที่จะเข้าไปทำตรงที่ดินนั้น เนื่องจากที่ดิน อ.จะนะ เป็นที่ดินที่ปลูกอะไรก็ลำบาก เป็นพื้นทราย

 

เมื่อถามว่า แสดงว่านายนิพนธ์ เห็นด้วยกับโครงการนี้จึงรวบรวมที่ดินให้กับเอกชน นายนิพนธ์ กล่าวว่า “ก็ใช่ ในเบื้องต้นเขาถามผมว่าทำได้หรือไม่ ผมก็บอกว่าทำได้ แต่การจะอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ตอนนั้นอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่รัฐมนตรี ซึ่งโครงการนี้เริ่มคิดมาตั้งแต่ปี 59”

“นิพนธ์” หนุนสร้าง“นิคมจะนะ”แก้ปัญหาความยากจน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ อ.จะนะ จะเกิดการจ้างงานขึ้น เราต้องยอมรับว่าพื้นที่ อ.จะนะเป็นพื้นที่ความมั่นคง เป็นพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาที่ระบุว่าใครจะไปลงทุนแล้วจะได้สิทธิพิเศษ เพราะต้องการหาคนไปลงทุนให้มาก เนื่องจากมีระเบิดและมีกิจกรรมที่ไม่ปลอดภัยอยู่ ดังนั้น การส่งเสริมให้คนไปลงทุนโดยการให้สิทธิพิเศษ เอกชนก็อยากไปลงทุน ชาวบ้านจะได้มีงานทำ โครงสร้างนั้นตนเห็นด้วย และที่เห็นได้ชัดคือ จังหวัดชายแดนภาคใต้เราแก้ปัญหาได้แล้ว ทั้งการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ดีกว่าเมื่อก่อนมาก ขณะนี้เหลือปัญหาเดียวคือ ความยากจนของประชาชน ฉะนั้น การทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ ตนถือว่าเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้ศึกษากันมานานกว่า 20 ปี

 

นี่คือสิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่สนับสนุน ลูกหลานเรียนจบมาตอนนี้ขึ้นมาทำงานกันที่ กทม. ภาคตะวันออก เพราะในพื้นที่ไม่มีการลงทุน ไม่มีการจ้างงาน แทนที่คนกลุ่มนี้จะอยู่ในพื้นที่เพื่อพัฒนา แต่ไม่มีโอกาส ศอ.บต.จึงคิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้มีงานทำ

 

 นายนิพนธ์ กล่าวว่า ต้องพูดคุยกัน ในพื้นที่เขาทำกันอยู่ ตนเป็นคน อ.จะนะ รู้ว่าในพื้นที่มีการคุยกันอยู่ แต่จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่พูดอย่างไรเขาก็ไม่เข้าใจ แล้วจะทำอย่างไร
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามเรื่องดังกล่าวใน ครม.หรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า นายกฯพูดมาหลายรอบแล้วว่าสนับสนุนให้มีการเดินหน้า แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายเท่านั้น เมื่อถามย้ำว่า นายกฯให้เดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า นายกฯไม่ได้สั่งอะไรนอกเหนือจากนี้ กระบวนการยังดำเนินไปตามกฎหมาย


“ในตัวโครงการเขาบอกไว้หมดว่ามีประโยชน์อย่างไร เรื่องราวอธิบายได้ แต่ถ้าไม่มีพยายามรับฟังมันก็ยาก การที่จะมีคนเข้าไปสร้างงานให้เกิดขึ้น นี่คือประเด็นใหญ่ที่ชาวบ้านต้องการ แต่ยอมรับว่ามีส่วนหนึ่งที่ต้องการทำประมงต่อ อันนี้ก็เคารพ เพราะผมเองก็มาจากครอบครัวชาวประมง แต่ไม่ใช่ว่าลูกหลานจบมาแล้วทุกคนต้องไปทำประมง อาจมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็ได้ เรื่องเห็นด้วยไม่เฉพาะผม แต่หลายคนสามารถไปถามดูได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพียงแต่เขาไม่อยากมาพูดให้ขัดแย้งกัน ถ้าไปสำรวจสอบถามเชื่อว่า 80-90% เห็นด้วย คนที่มาคัดค้านนี้เป็นส่วนน้อย ลองไปติดตามดูในพื้นที่ได้ ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ส่งลูกให้เรียนสูงๆ เขาอยากให้ลูกมีงานทำ ในพื้นที่นี้อย่าว่าแต่ทำนิคมอุตสาหกรรมเลย ปลูกมะม่วงหิมพานต์ยังปลูกไม่ขึ้น ไปดูพื้นที่จริงได้ ปลูกปาล์มก็ไม่ต้องไปปลูก เพราะมันเป็นทราย ปลูกยางพาราก็ไม่รู้จะมีน้ำยางหรือเปล่า”

 

เมื่อถามว่า การไปรวบรวมโฉนด มีเหตุผลอย่างไร นายนิพนธ์ กล่าวว่า เอกชนเขาสนใจโครงการนี้มานานแล้วตั้งแต่ปี 36 และ37 และแนวทางการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะทำท่าเรือน้ำลึก เหมาะสมด้วยกายภาพทางภูมิศาสตร์ ส่วนการไปรวบรวมโฉนดที่ดินมันไม่ผิดกฎหมาย ใครจะรวบรวมก็ได้ ตนรู้ว่าใครไปรวบรวมอยู่  ซึ่งเอกชนถ้าใครรวบรวมมาส่งเขาก็เอา ส่วนที่มีข่าวว่าตนไปกดดันนั้น มองว่าเป็นเงื่อนไขที่เชื่อมโยงให้เป็นประเด็นการเมือง ทั้งที่มันไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมที่จะมีโครงการหรือไม่ เรารู้กันอยู่ว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ก็มีทั้งได้และลบ แต่จะทำอย่างไรให้ลบน้อยที่สุด นี่คือหลักการพัฒนา

 

เมื่อถามย้ำว่า มีการกล่าวหาว่าเป็นนายหน้าค้าที่ดิน นายนิพนธ์ กล่าวว่า เขาก็ทำกันหมด ไม่ได้เกี่ยวกับโครงการ ผิดหรือถูก ส่วนนายหน้าค้าที่ดินนั้น มีกฎหมายรองรับ มีเรื่องค่านายหน้า แต่ตนไม่ได้เป็นนายหน้า ไม่ได้มีอาชีพนายหน้า แต่ถ้าใครจะซื้อ ตนก็ติดต่อให้เขาไปรู้จักกัน คุยกันเอง และตนไม่ปฏิเสธว่ามีคนรู้จักมาพูดคุย เพราะรู้จักคนเยอะ เพราะที่ อ.จะนะคือ บ้านตน ตนเกิดที่ อ.นาทับ เรียนหนังสือและโตที่นั่น แต่ไม่ได้ไปสั่งการให้ไปดำเนินการ ตนรู้จักคนที่นั่น รู้จักที่ดิน เพราะที่ดินที่นั่นใช้ปลูกแตงโมเป็นส่วนใหญ่ มันปลูกอย่างอื่นไม่ได้