19 ธ.ค.65 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การลดโทษ ในคดีสำคัญ” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 13-15 ธันวาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,317 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลดโทษในคดีสำคัญ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
ทั้งนี้จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการลดโทษให้กับนักโทษ คดีทุจริต คอร์รัปชัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.04 ระบุว่า ไม่ควรมีการลดโทษ รองลงมา ร้อยละ 26.27 ระบุว่า ควรต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของโทษ จึงจะมีสิทธิได้รับ การลดโทษ ร้อยละ 22.02 ระบุว่า ควรมีการลดโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และร้อยละ 1.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการลดโทษให้กับนักโทษ คดีผลิต/นำเข้า/ส่งออก/จำหน่ายยาเสพติด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.03 ระบุว่า ไม่ควรมีการลดโทษ รองลงมา ร้อยละ 12.76 ระบุว่า ควรต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของโทษ จึงจะมีสิทธิได้รับการลดโทษ ร้อยละ 12.53 ระบุว่า ควรมีการลดโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และร้อยละ 0.68 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการลดโทษให้กับนักโทษ คดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ (เช่น คดีฆ่าข่มขืน) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.88 ระบุว่า ไม่ควรมีการลดโทษ รองลงมา ร้อยละ 7.14 ระบุว่า ควรต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของโทษ จึงจะมีสิทธิได้รับการลดโทษ และร้อยละ 6.98 ระบุว่า ควรมีการลดโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่ออำนาจการกำหนด/เลื่อนชั้นของนักโทษที่จะทำให้ได้รับการลดโทษต่างกัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.52 ระบุว่า ควรเป็นการพิจารณาร่วมกันกับองค์กรอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ศาล เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 21.79 ระบุว่า ควรเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เหมือนในปัจจุบัน ร้อยละ 14.43 ระบุว่า ไม่ควรมีการกำหนดชั้นของนักโทษอีกต่อไป และร้อยละ 9.26 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ