ถือว่า “โดน” เป็นอย่างมากกับการตั้ง ฉายาให้ “สภาผู้แทนราษฎร” ประจำปี 2564 ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ว่า “สภาอับปาง”
เหตุผลที่นักข่าวประจำรัฐสภาขยายความ “สภาอับปาง” ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชน และงานบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยวิธีการเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้หน่วยราชการได้มีอำนาจไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร
แต่พบว่า “เรือสภาฯ” ลำนี้ในรอบปี 2564 กลับประสบปัญหา “สภาล่มอับปาง” โดยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา สมัยแรก และหนักข้อขึ้นตลอดเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2564 ซึ่งตามปกติปัญหาสภาล่มไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาฯ ชุดนี้กลับทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้งจนกลายเป็นความซ้ำซาก และไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือเพื่อป้องกันปัญหา
ทั้งที่ความจริง “สภาล่ม” คือเรื่องใหญ่ เพราะนั่นหมายถึงงานราชการต่างๆ ที่รอให้สภาผ่านหยุดชะงักลง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพียงเพราะ “ส.ส.ฝั่งรัฐบาล” ไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของส.ส. ประกอบกับ “ตายใจ” ว่าตนเองเป็นเสียงข้างมากและพ้นจากภาวะเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว จึงเข้าร่วมประชุมสภาฯ น้อย
ขณะเดียวกัน “ส.ส.ฝ่ายค้าน” มัวแต่จ้องจะเล่นเกมการเมือง เมื่อเห็นว่าส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่น้อย จะขอนับองค์ประชุมทันที และพร้อมใจไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทั้งที่อยู่ร่วมพิจารณาเรื่องต่างๆ ในที่ประชุมสภาฯ
ฉะนั้น การที่ “สภาอับปาง” บ่อยกว่าเรือล่ม จึงเป็นการสะท้อนว่า ส.ส.ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
ย้อนเหตุสภาล่ม 4 ครั้ง
เหตุการณ์ “สภาล่มซ้ำซาก” นับแต่เปิดประชุมสภาสมัยสมัยสามัญมาเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 เกิดเหตุสภาล่มแล้วถึง 4 ครั้ง ในรอบ 47 วัน
-ครั้งแรกที่ประเดิมสภาล่มคือ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 องค์ประชุมไม่ครบระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.... จนประธานฯ ต้องสั่งปิดประชุม
-ถัดมาวันที่ 17 พ.ย.64 องค์ประชุมบางตาระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่....) พ.ศ.... ประธานฯ ต้องชิงสั่งปิดประชุม
หลังจากนั้นเกิดการวัดพลังกันระหว่าง ส.ส.รัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน เล่นเกมนับองค์ประชุมหลายครั้ง
-ต่อมาวันที่ 15 ธ.ค.2564 องค์ประชุมไม่ครบระหว่างรอโหวตส่งร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ กลับไปให้ ครม.พิจารณา ประธานฯ ชิงสั่งปิดประชุม ทั้งๆ ที่กดบัตรแสดงตนแล้ว แต่ไม่ยอมขานคะแนน
และครั้งที่ 4 เมื่อวันนี้ 17 ธ.ค.2564 ระหว่างการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ว่า จะเห็นชอบรายงานเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการหรือไม่
ก่อนการลงมติต้องตรวจสอบองค์ประชุม แต่พบว่า ส.ส.ของฝั่งรัฐบาลมีจำนวนไม่พอที่จะเป็นองค์ประชุม ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านซึ่งอยู่ในห้องประชุม ไม่กดบัตรแสดงตน แม้จะมีการกดสัญญาณเพื่อเรียกสมาชิกให้เข้าห้องประชุม หรือพักการประชุม เมื่อกลับมาประชุม ปรากฏว่าส.ส.มีเพียง 235 คน จากสมาชิกทั้งหมด 476 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ต้องได้ 238 เสียง ขาดไป 3 เสียง ไม่ครบองค์ประชุม ประธานจึงสั่งปิดการประชุม
รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
ปัญหา “สภาล่ม” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า ฝ่ายค้านมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น และประกาศชัดมาก่อน โดยเสียงรัฐบาล266 เสียง เสถียรภาพถือว่าง่อนแง่น สุ่มเสี่ยงผิดพลาด ส่วนฝ่ายค้านมี 209 เสียง หากฝ่ายค้านไม่เข้มข้นจะเกิดผลเสียทั้งระบบ และเพื่อประโยชน์โดยรวม หากฝ่ายค้านปล่อยไม่ขันน็อตในสภาฯ จะทำให้ประชาชนยากลำบากมากขึ้น
นพ.ชลน่าน ชี้ว่า สภาล่ม 4 ครั้งในสมัยประชุมนี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาในการพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาล จะมาโทษฝ่ายค้านคงไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาองค์ประชุม ในฐานะเสียงข้างมาก ดังนั้น รัฐบาลต้องพร้อม แม้หน้าที่มาประชุมเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่ระบบรัฐสภา เป็นระบบเสียงข้างมาก จะเอาเสียงข้างน้อยมาอ้างไม่ได้
“ฝ่ายค้านจะให้บทเรียนรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะปรับตัวเอง หรือจนกว่าจะยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน เพราะฝ่ายค้านไม่อยากเห็นสภาที่เป็นเป็ดง่อยทำอะไรไม่ได้เลย” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ
ปัจจุบันเสียงส.ส.ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ ได้ มีทั้งสิ้น 475 เสียง แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 264 เสียง และฝ่ายค้าน 211 เสียง ครึ่งหนึ่งขององค์ประชุมคือ 238 เสียง
เสียงฝ่ายรัฐบาลเกินครึ่งหนึ่งที่นับเป็นองค์ประชุมอยู่ 26 เสียง
หากภายในรัฐบาลด้วยกันเองมีปัญหา หรือ ความเป็นเอกภาพภายใน “พรรคพลังประชารัฐ” มีปัญหา โอกาสที่จะเกิด “ส.ส.เกียร์ว่าง” ไม่เข้าร่วมประชุมสภาฯ โอกาสที่จะเกิดเหตุ “สภาล่ม” ซ้ำซากอีก ก็หลีกหนีไม่พ้น
เมื่อสภาล่มบ่อย ๆ ก็จะเกิดเหตุการณ์ รัฐบาลไม่กล้าเสนอกฎหมายสำคัญ ๆ เข้าสู่สภา โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน
เมื่อกฎหมายไม่เข้าสภา ผลเสียก็จะตกอยู่กับประเทศชาติ และประชาชน
“เหตุสภาล่ม” ถือเป็นความรับผิดชอบของ “ฝ่ายรัฐบาล” ที่ต้องเกณฑ์คนมาเข้าร่วมประชุมให้พร้อม จะไปอาศัยเสียงของ “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” ร่วมนับเป็นองค์ประชุมด้วยคงยาก
ปี 2565 การขับเคลื่อนงานในสภา จึงถือเป็นภาระหนักของรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์สภาล่มขึ้นอีก