มีการประเมินกันว่า ราคาหมูทั้งปีจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่ำ 30-35% และปัญหา “ราคาหมูแพง” กำลังกลายเป็นบ่วงรัดคอ “รัฐบาลบิ๊กตู่” อยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ โรคที่เกิดขึ้นกับหมู คือโรค ASF เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 เคยนำเสนอเรื่องเข้าครม. เพื่อเตรียมงบประมาณต่างๆ ในการรับมือ แต่หัวใจของโรคที่ติดทุกวันนี้ คือ “กรมปศุสัตว์” ยอมรับแล้วว่า มีการติดเชื้อในพื้นที่ แต่เชื้อมาจากไหนตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ
มีคนหากินกับหมู คือ “ไอ้โม่ง ป.” ซึ่งหากินกับเรื่องหมูๆ และนำมาซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เรื่องราวของหมูที่ราคาแพงตอนนี้พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
ราคาหมูปีนี้ทั้งปีจะอยู่ที่ 190-230 บาท/กก. นี่คือสถิติที่บ่งบอกในหลายๆ เรื่อง
แสดงว่าตัวปัญหาคือการเอา “สุกรมีชีวิต” ออกไปขายนอกประเทศ โดยมีการประเมินว่า สุกรภายในประเทศน่าจะเพียงพอ ทั้งๆ ที่หากพยากรณ์ได้ ก็จะรับรู้ว่าสุกรภายในประเทศและการบริโภคภายในประเทศจะมีปัญหา
เมื่อปี 2563 ประเทศเพื่อนบ้านเป็นโรคนี้ก่อน ขาดแคลนหมูอย่างมาก และไทยมีการส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลเกษตรกรที่เลี้ยงหมูจำนวน 187,272 ราย แบ่งเป็น รายย่อย 184,091 ราย เลี้ยงหมูขุน 2,247,332 ตัว หมูพันธุ์ 390,993 ตัว ลูกหมู 689,562 ตัว
รายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงหมูขุน 5,746,265 ตัว หมูพันธุ์ 683,998 ตัว ลูกหมู 1,532,035 ตัว
แสดงให้เห็นว่า การบริหารจัดการเชิงตัวเลข ปริมาณการเลี้ยงมีปัญหา
ทั้งนี้ข้อมูลการผลิต บริโภคภายในประเทศ และส่งออกสุกรไปต่างประเทศ เป็นดังนี้
ปี 2562 มีสุกร 22.53 ล้านตัว บริโภคภายในประเทศ 21.55 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ 0.98 ล้านตัว
ปี 2563 มีสุกร 22.05 ล้านตัว บริโภคภายในประเทศ 19.23 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ 2.82 ล้านตัว
ปี 2564 มีสุกร 19.67 ล้านตัว บริโภคภายในประเทศ 17.99 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ 1.28 ล้านตัว
ปี 2565 มีสุกร 12.98 ล้านตัว บริโภคภายในประเทศ 11.98 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศ 1 ล้านตัว
สะท้อนว่า ถ้าปริมาณหมูภายในประเทศมีปัญหา ประเทศเพื่อนบ้านก็ติดเชื้อทั้งหมด จะทำอย่างไรที่จะดูแลภายในประเทศและแสวงหาโอกาสจากต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้มีการออกมาเตือนโรคที่ติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกันในหมูมีการระบาด เมื่อไปแกะรอยโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) จะพบเส้นทางดังนี้
ส.ค. 2561 มีรายงานพบการระบาดในจีน-อาเซียน
เม.ย.2562 ครม.อนุมัติแผนรับมือโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติ
มี.ค.2563 ครม.อนุมัติงบกลาง 523 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรค ASF
ก.พ.2564 ครม.อนุมัติงบกลาง 279 ล้านบาท ป้องกันโรค ASF
มี.ค.2564 FAO-OIE แจ้งเตือนภัยโรค ASF ในเอเชีย
มิ.ย.2564 มีรายงานในหลายจังหวัดพบหมูตาย จากอาหารคล้ายโรค ASF และ สภาเกษตรแห่งชาติแจ้งระบาดไปทั่วประเทศ
ก.ค.2564 1.พบหมูติดโรค ASF ของผู้เลี้ยง 1 รายที่จ.ตาก เป็นหมูส่งมาจากเขต 5 จากการรายงานของกรมปศุสัตว์ 2. กรมปศุสัตว์ของบกลาง 140 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรค ASF 3. อธิบตีกรมปศุสัตว์ ปฏิเสธไม่มีโรค ASF ในไทย 4. มีการประชุมคณะทำงานปฏิเสธไม่มีโรค ASF ในไทย สอบถามว่า ควรจะเปิดเผยโรค ASF ดีหรือไม่
ส.ค.-พ.ย.2564 ฟาร์มรายกลาง-รายใหญ่ รายงานพบหมูตายเป็นจำนวนมากสงสัยติดโรค ASF
7 ธ.ค.2564 ภาคีคณบดีสัตวแพทย์ยืนยันพบโรค ASF ในซากหมูส่งตรวจ
7 ม.ค.2565 กุนเชียงไทยส่งไปไต้หวันพบโรค ASF ปนเปื้อน
11 ม.ค.2565 กรมปศุสัตว์ยืนยันพบโรค ASF ที่โรงฆ่านครปฐม
และเมื่อไปดูเชื้อโรค ASF ในเนื้อหมูอยู่ได้นานแค่ไหน พบว่า เนื้อหมูปรุงสุก (70 องศา นาน 30 นาที) 0 วัน, เนื้อหมูรมควัน (ถอดกระดูก) 30 วัน, เนื้อหมูแบบถอดกระดูก หรือเนื้อหมูบด 105 วัน, เครื่องในหมู 105 วัน, เนื้อหมูแช่เย็น 110 วัน, เนื้อหมูหมักเค็ม 182 วัน, เนื้อหมูตากแห้ง 300 วัน, เลือดหมู (เก็บที่ 4 องศา) 18 เดือน และเนื้อหมูแช่แข็ง 1,000 วัน
เพราะฉะนั้นถ้าไทยประกาศหมูติดเชื้อ จะมีปัญหา แล้วใครที่กำกับดูแล เขาบอกว่า "ไอ้โม่ง ป."
ผลงานโบว์แดงแสลงใจ คือ
-ผลักดันการนำเข้าวัว จนทะลักเข้ามา ท่ามกลางปัญหาโรคลัมปี สกินลามใน 41 จังหวัด
-การนำเข้ายา วัคซีน จากเนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้
-การส่งออกหมูไปประเทศเพื่อนบ้านแค่ 5 ราย จากโบรกเกอร์ 11 ราย ราว 1.5 ล้านตัว จากการส่งออกทั้งหมด 2.45 ล้านตัว ในปี 63 มูลค่าราว 1 หมื่นล้านบาทเศษ
-กำกับไม่ให้กรมปศุสัตว์ประกาศว่าไทยมีโรค ASF ระบาดในหมู ท่ามกลางความกังวลของข้าราชการ
“ขาใหญ่” เหล่านี้ที่เป็นตัวกลาง ที่นำไปสู่เมื่อมีการส่งออก-นำเข้าหมู สิ่งเหล่านี้จึงเกิดปัญหา
ตอนนี้ ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ออกมากำกับดูแล เสนอกระทรวงพาณิชย์ให้นำเข้าหมูมาบริโภคภายในประเทศก่อน หลังจากที่ “หมูไทย” หายจากระบบ
เบื้องต้นสามารถนำเข้าหมูจากเพื่อนบ้านในราคาถูกได้ภายใน 3 วัน ขอเพียงกระทรวงพาณิชย์อนุมัตินำเข้า ส่วนที่พบโรค ASF ในไทยคงไม่กระทบส่งออก เพราะขณะนี้หมูไทยไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ไม่มีให้ส่งออกแล้ว
ถามว่าก่อนหน้านี้ “กรมปศุสัตว์” รู้หรือไม่ว่าหมูในตลาดจะขาดตลาด และราคาจะแพง ถ้าตัวเลขที่ประเมินในการพยากรณ์ข้างต้นรู้ แสดงว่ารู้ทั้งรู้ อยู่แก่ใจ แต่ทำไมจึงไม่สกัดปัญหาก่อนที่จะแพง
เพราะฉะนั้นเรื่องราคา “หมูแพง” ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากโรค ASF เพียงอย่างเดียว แต่มีคน “หาประโยชน์”จากเรื่องหมูๆ
แฉ“นายทุน”นำหมูขายประเทศเพื่อนบ้าน
ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร แสดงความเห็นเรื่อง “หมูแพง” ในหัวข้อ เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู ว่า
หมูในเอเชียเป็นโรคระบาด AFS ตายมา 2-3 ปีแล้ว ในเอเซียทั้งหมดตายไปกว่า 300 ล้านตัว ในประเทศไทยรัฐบาลกำกับให้เลี้ยงหมูดีที่สุดตายน้อยสุดสะอาดสุด ในเอเซีย เลยเป็นที่ต้องการของตลาดรอบประเทศในเอเซียรวมทั้งจีนด้วย
2 ปีที่แล้วทำไมหมูไม่แพง ปีนี้มันก็เป็นโรคกันอีก แล้วใครเอาหมูเป็นๆทั้งตัวออกไปขายให้เพื่อนบ้าน ก็ “นายทุน” ทั้งนั้น ขายจนหมูในประเทศขาดตลาดมากๆ มันก็แพง ไปดูได้ตามชายแดนติดเพื่อนบ้าน ผู้ส่งออกบางคนเอาแต่ได้กว้านซื้อหมูเป็นมาตุน เพื่อส่งออกปศุสัตว์ก็ต้องตามไปดูแลตลอดเวลา ไม่เคยปล่อยปละละเลย
“ฟาร์มหมูที่หมูตายต้องไปถามว่าคนเลี้ยงหมูเลี้ยงอย่างไร หมูติดเชื้อตาย คนเลี้ยงแจ้งหรือไม่ คุณปล่อยให้มันตายติดเชื้อกันไปเรื่อยเรื่อยตายจนเอาไม่อยู่ คุณถึงมาพูดเรื่องนั้นเป็นเรื่องความรับผิดชอบ ส่วนผู้เลี้ยงหมูGMP ที่เลี้ยงในระบบปิดทำไมเขามีปัญหาน้อย เพราะคุณไม่ยอมเข้าระบบที่ถูกต้อง เพราะว่าคุณคิดที่จะเลี้ยงหมูต้นทุนถูก ปัญหาพอมันประสบคุณปิดข่าวกันเองกลัวส่งออกไม่ได้ มันเป็นกรรมของคนเลี้ยงบางส่วนที่มองแต่ประโยชน์ตนเองจริงๆ”
ดร.ชัยภัฏ ระบุว่า เรื่องหมูแพงบางทีก็เป็นเรื่องของการเมืองที่ช่วงชิงผลงานและทำลายคู่แข่งโดยวิธีการสกปรก ทำลายโจมตีคู่ต่อสู้ เพราะกระแสการเมืองการเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้น การโจมตีที่มีการเขียนข่าวทำลายกัน มีการจ้างสื่อเขียน เพื่อให้ร้ายทำลายพรรคการเมืองที่ดูแลกระทรวง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ วันนี้วิธีการแบบนี้ยังอยู่ในประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจที่สุด แต่แพะรับบาปกลายเป็นหน่วยงานราชการอย่างเช่น ปศุสัตว์ ในกรณีแบบนี้