นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 8 อิสระ แถลงนโยบาย และตอบข้อซักถาม ในเวที“เปิดฉาก.. ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. 65” จัดโดยเนชั่น กรุ๊ป ว่า ได้ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ม ตั้งแต่ไก่โห่ 2 ปีครึ่งมาแล้ว ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหา มีทีมงานเพื่อนชัชชาติเป็นเครือข่ายกระจายอยู่ทุกเขต เพื่อประมวลปัญหาและตกผลึกความคิด ว่า ต้องสร้างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
การทำเมืองน่าอยู่ก็ยากอยู่แล้ว แต่ยังต้องสำหรับทุกคน ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่จากการระดมความเห็นอย่างต่อเนื่อง ได้สรุปแนวทางการทำงานเพื่อสร้างกรุงเทพฯสู่เป้าหมายดังกล่าว เป็น 9 ด้านและ 9 ดี
9 ด้าน คือ ดัชนีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนกรุงเทพฯ อาทิเช่น ความปลอดภัย สุขภาพ สภาพแวดล้อม การศึกษา การจราจร เศรษฐกิจหรือการทำมาหากิน การบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งสามารถแตกย่อยเป็นนโยบายได้กว่า 200 เรื่อง
"ดูเหมือนว่ามากมายเหลือเกิน แต่ 200 นโยบาย สำหรับกรุงเทพมหานคร ที่มีข้าราชการลูกจ้างกทม.กว่า 50,000 คน บริหารงบประมาณปีละ 80,000 กว่าล้าน ซึ่งที่จริงเป็นงบประจำ 32,000 กว่าล้าน งบผูกพันที่ต้องจ่ายอีกก้อนใหญ่ เหลืองบไปใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ให้คนกทม.เพียง 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องใช้การบริหารจัดการ เปลี่ยนจากที่เคยทำเยอะแต่ได้น้อย ให้เป็นทำน้อยแต่ได้เยอะ เพื่อให้มีงบเหลือไปใช้เรื่องจำเป็นอื่น ๆ ด้วย"
ส่วน 9 ดี ประกอบด้วย 1.บริการดี โดยย้ายกทม.ไปอยู่บนคลาวด์ คนไม่จำเป็นต้องไปเขต สามารถใช้บริการทางออนไลน์ได้เลย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนกทม. 2.ปลอดภัยดี คนกทม.สามารถชี้จุดเสี่ยงขึ้นบนแผนที่ดิจิทัล ให้ผู้บริหารเขตและกทม.รับรู้เพื่อแก้ปัญหาได้ทันที และทำได้เลย
3.สุขภาพดี ขยายเวลาเปิดบริการสวนสาธารณะ บริการสุขภาพโดยชุดรถเคลื่อนที่ถึงชุมชน และมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพถึงโรงพยาบาลหรือหมอ 4.สิ่งแวดล้อมดี คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใน 15 นาที ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นเพิ่มสีเขียว 5.เรียนดี เปิดโรงเรียนกทม.วันเสาร์-อาทิตย์ ให้เด็กใช้เป็นที่ติวหนังสือ ทำกิจกรรมการเรียนรู้
6.เดินทางดี กทม.ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างSingle Command ตรงไหนเป็นจุดอ่อนหรือช่องโหว่ต้องเข้าไปเต็มเติม เช่น ระบบขนส่งคนจากชุมชนหรือที่พักในซอยลึกออกมาป้อนระบบขนส่งมวลชน 7.โครงสร้างดี ผังเมืองต้องเป็นเครื่องมือในการกำกับการพัฒนาเมืองได้อย่างแท้จริง ทำโครงสร้างเมืองให้ต่อเนื่องเชื่อมโยง
8.เศรษฐกิจดี เป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังโควิดที่คนได้รับผลกระทบมาก กทม.ต้องขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น 12 เทศกาลประจำปี 50 ย่าน ให้คนกลับมาทำมาหากินได้ จะเป็นผู้ว่าฯเที่ยงคืน ที่ต้องดูแลผู้คนที่ทำมาหากินนอกเวลาราชการต่อเนื่อง"ยันหว่าง" หรือถึงเช้า และ 9.สร้างสรรค์ดี คนรุ่นใหม่ไม่หางานแล้วแต่เป็นผู้สร้างงาน กทม.ต้องจัดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ทดลองเรียนรู้และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ
"เป็นนโยบายที่ไม่เฟ้อฝัน ทำได้จริง ครอบคลุมทุกเรื่องของคนกทม."นายชัชชาติกล่าวย้ำ
ส่วนคำถามถึงนโยบายติดตั้ง WIFI Free จะครอบคลุมแค่ไหนนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องเชิงบริหารจัดการ ช่วงแรกจะเน้นจุดที่มีความจำเป็นก่อน คือ โรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งชุมชน โดยพิจารณาร่วมกับตัวเลขการลงทุน "ถ้ามีเงินเหลือและราคาถูกลง ต่อไปสามารถกระจายจุดเพิ่มพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้อินเตอร์เนตเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึง อย่างน้อยในขั้นต่ำ
"โควิดเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ผู้คนเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สามารถใช้แอพฯต่าง ๆ คล่องตัวขึ้น โดยช่วงแรก ๆ ก็ยังกลัว เช่น อาจถูกตามเก็บภาษี แต่เมื่อเชื่อใจและทำให้ชีวิตดีขึ้นคนก็ยอมรับ การจะใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าจึงต้องเข้าถึงจิตใจคนใช้ ให้ไว้ใจและเชื่อถือได้"
การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในวิกฤตโควิดนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า กรณีโควิดเป็นการรับมือสิ่งที่เราไม่รู้จักมาก่อน แต่หลังโควิดจากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม จึงต้องเอาประสบการณ์ตอนโควิดมาเป็นบทเรียน บริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ กทม.มีส่วนเพียง 12 % ที่เหลือเป็นของรัฐบาลกลางหรือหน่วยงานอื่น ต่อไปต้องบูรณาการงานให้เกิด Single Command ให้งานสอดคล้องกัน และรัฐต้องไว้ใจคนให้ชุมชนเข้มแข็ง จะลดภาระงานของหน่วยงานรัฐลงในส่วนที่ประชาชนดูแลตัวเองได้
ส่วนการบริหารหน่วยงานกรุงเทพธนาคม ผู้รับผิดชอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของกทม. หรือโครงการที่ใช้งบฯจำนวนมากนั้น ที่ผ่านมาเป็นเหมือนแดนสนธยา เพราะคนนอกไม่สามารถขอดูเอกสารสัญญาได้ สัญญาบีทีเอสเราหาไม่ได้เลย ต่างจากสัญญาของกทม. หากได้เป็นผู้ว่าฯต้องเปิดเผยโปร่งใสกว่านี้
ทั้งนี้ นายชัชชาติทิ้งท้ายชักชวนคนกรุงเทพฯให้ไปหย่อนบัตรลงคะแนนแลกไปเป็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ว่า ตนพร้อมเป็นผู้นำของความหวังคนกรุงเทพฯ เพื่อสร้างกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนที่จะเป็นจริงได้