ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นนักการเมืองเลือดใหม่สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ เขาเป็นบุตรชายของ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ แกนนำคนสำคัญพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ความที่มีบิดาเป็นคนดังยิ่งทำให้ข่าวฉาวที่เกิดขึ้นนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นวงกว้าง
ปริญญ์เริ่มต้นเส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการในปี 2562 ด้วยการเข้ามามีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ด้วยตำแหน่ง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย” ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่พรรคกำลังเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ ปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นรองนายกรัฐมนตรี
เขาเข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรค ปชป.) ควบเก้าอี้ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร และเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เรียกได้ว่า "ปริญญ์"เข้ามาเป็น “คลังสมอง” ด้านเศรษฐกิจของพรรคอย่างแท้จริง
ในปี 2563 ปริญญ์เสนอไอเดียด้านนโยบายจำนวนมากในช่วงเป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการ ปชป. เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์) เช่น นโยบาย “บาซูก้า” 2 ล้านล้านบาท โครงการเรียนจบพบงาน และโครงการแก้สินค้ามังคุดล้นตลาด เป็นต้น
ด้วยความเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ “ปริญญ์” มีสายสัมพันธ์อันดีกับลูกหลานอดีตนักการเมือง-เทคโนแครตชื่อดัง เช่น “สันติธาร เสถียรไทย” บุตรชายนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีหลายสมัย และ“การดี เลียวไพโรจน์” บุตรสาวของนายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปี 2557
ในส่วนของงานด้านธุรกิจ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2565 ระบุว่า “ปริญญ์” เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไอโครา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 แจ้งเลิก 1 ก.ค. 2564 เสร็จชำระบัญชีเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 897 ซอยลาดพร้าว 107 (ดีสมโชค) แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
กรรมการบริษัท 7 คนประกอบด้วย
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 พบว่า หุ้นถูกกระจายอยู่ใน 5 คน คนละ 20% เท่า ๆ กัน ได้แก่ น.ส.นิลทิตา เลิศเรืองศุภกุล นางการดี เลียวไพโรจน์ นายศิโรตม์ เสตะพันธุ นายลี ไขว้เซง และนางชนาทิพย์ เสถียรไทย (ภริยานายสันติธาร เสถียรไทย)
นำส่งงบการเงิน 4 ปีหลังสุด (2560-2563) ดังนี้
ปี 2563 มีรายได้รวม 2,152 บาท รายจ่ายรวม 76,842 บาท ขาดทุนสุทธิ 74,690 บาท
ปี 2562 มีรายได้รวม 15,364 บาท รายจ่ายรวม 723,462 บาท ขาดทุนสุทธิ 708,098 บาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 22,607,330 บาท รายจ่ายรวม 23,026,746 บาท ขาดทุนสุทธิ 419,416 บาท
ปี 2560 (ช่วงก่อตั้ง) มีรายได้รวม 2,013 บาท รายจ่ายรวม 61,622 บาท ขาดทุนสุทธิ 59,609 บาท
สำหรับประวัติส่วนตัว ปริญญ์เกิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2520 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของนายศุภชัย พานิชภักดิ์ และนางศสัย พานิชภักดิ์ มีน้องสาว 1 คน คือ นางสาวนฤน พานิชภักดิ์
ปริญญ์จบการศึกษาชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนจะบินไปเรียนต่อและจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ สกูล ในเมืองเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นเรียนต่อปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ลอนดอน สกูล ออฟ อีโคโนมิกส์ (แอลเอสอี) หลังเรียนจบก็เริ่มงานแรกที่ลอนดอน เป็นนักวิเคราะห์ที่ธนาคารเมอร์ริล ลินช์ จากนั้นย้ายไปเป็นวาณิชธนากร ที่ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ก่อนกลับเมืองไทยมาทำงานเป็นรองประธานที่ดอยช์แบงก์
หลังจากนั้น ปริญญ์ย้ายไปเป็นหัวหน้าฝ่ายตลาดเครดิต ลียองเนส์ ประเทศไทย ก่อนที่จะโยกไปเป็นผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการลงทุนภูมิภาคเอเชีย บริษัท เครดิต ลียองเนส์ (ฮ่องกง) และในช่วงเวลานี้เองที่เขาเริ่มนำร้านเป็ดย่างชื่อดังในกรุงลอนดอน “โฟร์ซีซั่นส์” มาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย โดยเป็นธุรกิจส่วนตัว ในฐานะหุ้นส่วนร้าน เนื่องจากเขารู้จักสนิทสนมกับ “ปีเตอร์ ลัม” ลูกชาย “เดวิด ลัม” เจ้าของร้านเป็ดย่างโฟร์ซีซั่นส์ ต้นตำรับในกรุงลอนดอนนั่นเอง
หลังออกจากบริษัทเครดิต ลียองเนส์ ฮ่องกง “ปริญญ์” ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการลงทุนภูมิภาคเอเชียและญี่ปุ่นของ บล.ซี แอล เอส เอ (ฮ่องกง) และกลับมาเมืองไทย เป็นกรรมการผู้จัดการ บล.ซี แอลเอส เอ (ประเทศไทย) ด้วยวัยเพียง 35 ปี ถือเป็นมืออาชีพที่ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรสูงสุด ด้วยอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น
ช่วงที่ปริญญ์เข้ามาบริหาร ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เขาสร้างความสำเร็จ ปิดดีลที่โด่งดังในวงการตลาดทุนมากที่สุด โดยในปี 2556 เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) เข้าซื้อหุ้นบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (F&N) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และเครื่องดื่มของสิงคโปร์ ที่ก่อตั้งมานาน 130 ปี และนับเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้นพ.สมยศ อนันตประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ขายหุ้นล็อตใหญ่ 5.5% ให้กลุ่มแคปปิตอล วัน กองทุนยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ปริญญ์” เบนเข็มเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 2562 และตอนนี้ เขากำลังฝ่ามรสุมข่าวฉาวโดยการประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2565 เพื่อแสดงสปิริตไม่ให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นกระทบการทำงานของพรรค และพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม