กรณ์ อาลัยยิ่ง “เจริญ คันธวงศ์” รักเคารพรองจากพ่อ

05 พ.ค. 2565 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2565 | 15:53 น.

กรณ์ อาลัยยิ่ง อาจารย์ “เจริญ คันธวงศ์” รักเคารพ"รองจากพ่อ" โพสต์ซึ้งเป็นผู้ให้กำเนิดนักการเมืองชื่อ "กรณ์"

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ นายเจริญ คันธวงศ์ สส.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า 

 

"อาจารย์เจริญ" เป็นคนรุ่นเดียวกันกับคุณพ่อ และรองมาจากคุณพ่อแล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพรักมากที่สุด ซึ่งพอมานั่งคิดดูว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เราเคารพหรือรักใคร คำตอบต้องใช้หลายคำบรรยายเหมือนกัน คือ ความใจกว้าง ความดี ความแฟร์ และการเป็นผู้ให้ (โดยไม่มีเงื่อนไขสิ่งตอบแทน)

 

ในปี 2548 ตนลงสมัครส.ส.ในเขตยานนาวา-สาทร โดยมีอาจารย์เจริญเปิดทางให้ อาจารย์เป็นส.ส.ในเขตนี้เดิม แต่ได้ตัดสินใจลงส.ส.บัญชีรายชื่อ และรับอาสาเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ลงเลือกตั้งใด ๆ มาก่อน 

นายกรณ์ จาติกวณิช  โพสต์อาลัยยิ่ง นายเจริญ คันธวงศ์

 

“แกยกที่ทำงานแกให้เป็นศูนย์เลือกตั้งของผม ยกทีมงานทั้งหมดให้มาช่วย แต่ที่สำคัญที่สุดคือแกอุทิศตนในการช่วยหาเสียงเสมือนกับแกเป็นผู้สมัครเอง นั่นหมายถึงว่า แกตื่นแต่มืดเพื่อลงพื้นที่กับผมแทบทุกวัน และมักจะอยู่กับผมจนเย็น เป็นเช่นนี้อยู่กว่า 3 เดือน

 

ความทุ่มเทของอาจารย์เป็นมาตรฐานที่สูงมากให้ผมตลอดมา ผมช่วยคนอื่นแค่ไหน  ผมก็ไม่เคยรู้สึกว่าเทียบได้กับที่อาจารย์เคยช่วยผมมา ในฐานะ political rookie ผมมีเรื่องต้องเรียนรู้จากอาจารย์และทีมงานมากมาย” 

 

 อาจารย์เจริญมักเรียนตนว่า “คุณกรณ์” ทุกครั้ง และมักแนะนำในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เวลาคุณไปงานศพชาวบ้าน คุณไปเงียบๆ เหมือนคนทั่วไปไม่ได้ ถ้าจะไปอย่างนั้นคุณนั่งอยู่บ้านดีกว่า คุณจะนั่งข้างหลังกับชาวบ้านได้ แต่คุณต้องเดินไปหาเจ้าภาพหน้างานก่อน เคารพศพ แล้วค่อยเดินจากข้างหน้ามาข้างหลัง ให้ชาวบ้านเห็น และให้คุณได้ไหว้ทักทายชาวบ้านทุกคน

 

“คุณกรณ์” เวลาไปงานโต๊ะจีน คุณต้องนั่งโต๊ะติดกับเวที เดินทักทายทุกคนถึงที่นั่งคุณ แล้วนั่งหันหลังให้เวที หันหน้ามาในห้อง เพื่อเวลาแขกคนอื่นเขาหันมามองเวที เขาจะได้เห็นหน้าคุณ”, “คุณกรณ์” จำไว้นะ อย่าเบื่อ อย่าเหนื่อยที่มีชาวบ้านมาขอความช่วยเหลือเยอะแยะมากมาย เพราะนั่นแปลว่าเขามีความหวังในตัวคุณ ในฐานะนักการเมืองวันไหนไม่มีใครมาพึ่งพาวันนั้นคุณจะรู้สึกเหนื่อยจริง
 

นายกรณ์ จาติกวณิช

นายกรณ์ ย้อนความหลังถึง วันเลือกตั้งเมื่อปี 2548 โดยใช้คำว่า วันเลือกตั้ง ‘ของเรา’ (เพราะมันไม่ใช่วันของผมคนเดียว) ในปี 2548 การนับคะแนนในเขตนี้มีดราม่ามากมาย สมัยนั้นยังมีการปิดหีบที่หน่วยเลือกตั้งแล้วขนทุกหีบมานับรวมกันที่ศูนย์กลางในแต่ละเขตเลือกตั้ง

 

ผมพบหลักฐานว่า มีการเปิดบางหีบระหว่างทางแน่นอน ตนเรียกร้องคำอธิบายจาก กกต. และไม่ยอมให้มีการเปิดหีบนับคะแนนจนกว่าจะมีคำชี้แจง (ซึ่งเขาชี้แจงไม่ได้) กกต.ยืนยันจะนับคะแนน แต่ตนไม่ยอมจนต้องขึ้นไปนั่งทับหีบเพื่อรักษาสิทธิ (นั่งทับบนหีบจริงๆ!)

 

วันนั้นพรรคไทยรักไทยยิ่งใหญ่มาก มี ‘แลนด์สไลด์’ ของจริง เขตอื่นเขานับเสร็จหมดแล้ว ผู้สมัคร ส.ส.ไทยรักไทยและทีมงานยกพลมาที่เขตยานนาวาเพื่อเป็นกำลังใจให้คู่แข่ง สื่อทุกสื่อมาตั้งกล้องที่เขตนี้ เหลือเขตนี้เขตเดียวในประเทศที่ยังไม่ได้นับคะแนน ดราม่าพีคถึงที่สุด

 

“ตลอดช่วงเวลานั้นผมมีอาจารย์อยู่เคียงข้าง จนประมาณตี 2 ผมบอกกับอาจารย์ว่า “อาจารย์กลับไปพักผ่อนเถอะครับ ผมรับมือได้แล้ว เช้าเจอกัน” เขตเรานับคะแนนเสร็จประมาณ 10 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น ตอนสายๆ พอค่อนข้างแน่ชัดว่าผมฝ่าด่าน ‘แลนด์สไลด์’ มาได้

 

อาจารย์ขับรถกลับมาที่ศูนย์นับคะแนนที่วัดดอกไม้ เดินมากอดผมแน่นแล้วร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความดีใจ พลางพูดใส่หูผมว่า “คุณเก่งมาก คุณเก่งมาก” ผมบอกอาจารย์ไปว่า อาจารย์สิครับคือคนเก่ง คนดี คนที่ให้โดยที่ไม่เคยขอ อาจารย์เจริญคือคนที่ผมนึกถึงเสมอว่า ในยุคหนึ่งบ้านเมืองเราเคยมีนักการเมืองแบบนี้ ที่ซื่อสัตย์ ทุ่มเท เสียสละ และเป็นคนของประชาชนอย่างแท้จริง

 

จากวันนั้นอาจารย์ก็เป็นที่พึ่งที่พร้อมให้คำปรึกษาเสมอ ตอนผมได้เป็นรัฐมนตรี คุณพ่อผมได้เสียชีวิตไปแล้ว อาจารย์จะพูดเสมอว่า ‘ถ้าคุณพ่อคุณรู้ ท่านจะต้องภาคภูมิใจ’ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นคำพูดที่สะท้อนความรู้สึกของแกเอง และตลอดช่วงที่ผมอยู่ในตำแหน่ง แกไม่เคยมาที่กระทรวง ไม่เคยขออะไร ไม่เคยแสดงออกใน connection พิเศษระหว่างเรา” 

 

 หัวหน้าพรรคกล้ายังได้เอ่ยถึงคำพูดที่ อาจารย์เจริญ มักอวยพรคู่บ่าวสาวในวันแต่งงาน ว่า “ถ้าเมียถาม จงอย่าบอก  ถ้าเมียไล่ จงอย่าหนี ถ้าเมียตี จงอย่าสู้ ถ้าเมียรู้ ต้องไม่รับ”

 

และขอขอบคุณครอบครัวของอาจารย์ ที่ต้องยอมแบ่งปันเวลาของสามีหรือพ่อ มาให้ประชาชนและพวกเรา อยากจะบอกไว้ ณ ที่นี้ว่า ความเสียสละของครอบครัวตลอดเวลาหลายสิบปี มีความหมายอย่างมากกับชีวิตคนจำนวนมากจริง ๆ  รักและคิดถึงอาจารย์เจริญเสมอ