ชัชชาติระทึก กกต.ถกจันทร์หน้าถูกร้องเรียนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 เรื่อง

28 พ.ค. 2565 | 14:52 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2565 | 22:01 น.

กกต.ถกรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.- ส.ก. จันทร์หน้า พบ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ถูกร้องเรียน 2 เรื่อง ปมป้ายหาเสียงรีไซเคิล-ดูถูกระบบราชการ 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 มีรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. ทางสำนักงานกกต.จะเสนอรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) และ สมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 


โดยเป็นการนำเสนอผลคะแนนในส่วนของผู้บริหาร จำนวน 1 ตำแหน่งและสมาชิก จำนวน 50 ตำแหน่ง  โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ ได้รับคะแนน 1,386,215 คะแนน 

ส่วนส.ก. ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.) 20 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 9 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 คน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 2 คน  

 

เบื้องต้นขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และส.ก. รวม 24 คำร้อง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเรื่องการปิดป้ายหาเสียงไม่ถูกต้อง และข้อความที่ใช้หาเสียงหมิ่นเหม่เกินกรอบอำนาจหน้าที่ เข้าข่ายหลอกลวง เป็นต้น 

สำหรับนายชัชชาติ ถูกร้องเรียน จำนวน 2 เรื่อง คือ 

 

1.กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ไต่สวนนายชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่ 


เบื้องต้น กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้กับผู้ใดภายหลังจากการเลือกตั้ง ตามคำกล่าวอ้างของผู้ร้องหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงนโยบายหาเสียงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม นโยบายรีไซเคิลและรียูสสิ่งของ 


และ 2.การร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่กกต.โดยตรง อ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงานเพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และยังไม่สามารถระบุได้ว่าตรงกับข้อกฎหมายใด 


แหล่งข่าวจากกกต. เปิดเผยว่า ปัจจัยการประกาศผลการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการร้องคัดค้านผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดแต่ละเขตเลือกตั้ง เมื่อมีการเสนอให้กกต.ประกาศผลจะเสนอพร้อมกันทั้งหมด ทั้งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก. ซึ่งต้องแจ้งรายละเอียดให้กกต.รับทราบด้วยว่า มีผู้สมัครคนใดที่มีเรื่องร้องคัดค้าน ประเด็นใดบ้าง  


หลังจากนั้นกกต.จะพิจารณาว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งให้ส.ก.ท่านใดก่อน หรือผู้ว่าฯกทม.ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่ดุลพินิจของกกต. ไม่มีการเลือกเสนอ โดยกกต. จะเป็นผู้พิจารณา ถ้ามีเรื่องร้องคัดค้านหรือพบว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อาจจะไม่ประกาศผลการเลือกตั้งได้ 


“สมมติว่ามีผู้สมัครส.ก.ที่ได้คะแนนสูงสุด 45 คนจาก 50 คน ไม่มีเรื่องร้องคัดค้าน จะมีมติให้ประกาศผลการเลือกตั้ง 45 คนก่อน ส่วนที่เหลือจะยังไม่ประกาศ ตามกระบวนการจะตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง” แหล่งข่าวจาก กกต.ระบุ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระยะเวลาประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม และส.ก. ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ระบุไว้ว่ากกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม 


อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษหรือไม่ ให้ กกต.สืบสวนหรือไต่สวนให้แล้วเสร็จ และประกาศผลการเลือกตั้ง หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง