เปิดเหตุผลที่กกต.เพิ่งรับรอง"ชัชชาติ”เป็นผู้ว่าฯ กทม.ในวันนี้ พ่วง 5 ส.ก.

31 พ.ค. 2565 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 15:40 น.

เปิดเหตุผลที่กกต.เพิ่งรับรอง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ให้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ในวันนี้ พ่วงอีก 5 ส.ก. เขต“สัมพันธวงศ์-หนองแขม-บึงกุ่ม-บางคอแหลม-ลาดพร้าว”

วันนี้( 31พ.ค.65) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่าสำนักงานกกต. ได้เสนอผลการตรวจสอบเบื้องต้นและเห็นควรประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) จำนวน  1 ราย คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 

 

เขตสัมพันธวงศ์ นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์

 

เขตหนองแขม นายนวรัฐ อยู่บำรุง

 

เขตบึงกุ่ม นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย

 

เขตบางคอแหลม นายปวิน แพทยานนท์

 

และ เขตลาดพร้าวนายณภัค เพ็งสุข

ทั้งนี้กกต.ยังได้ชี้แจงว่า การที่กกต.ไม่อาจประกาศผลการเลือกตั้งได้ทันทีที่ได้รับรายงานผลการนับคะแนน เนื่องจากสำนักงานกกต.ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นตามมาตรา 17 พ.ร.บการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 เสียก่อน ว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตาม

โดยพิจารณาจากรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร และรายงานของผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพฯประกอบการพิจารณาเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป

สำหรับการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งวันนี้ มี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นประธานการประชุมกกต. ผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Cloud Meeting ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาผลคะแนนการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.  และสมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2


หลังจากการประชุมเมื่อวานนี้ สำนักงานกกต. เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่ากรณีที่นายชัชชาติ ถูกร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงอาจเข้าข่ายทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม จึงควรตรวจสอบเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

 

โดยวันนี้ ที่ประชุมมีมติรับรองนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

สำหรับข้อร้องเรียนที่มีต่อ นายชัชชาติ ซึ่ง กกต.กทม.เสนอให้ กกต.กลาง พิจารณา 2 เรื่อง ประกอบด้วย


1.กรณีทำป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋า เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้หรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนสอบสวนชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อทำ "กระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน" อันเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่ อย่างไร

 

และ 2. กรณีการพูดในลักษณะดูถูกระบบราชการ