นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงร่าง พรบ.งบประมาณ 2566 โดยกล่าวว่า ขอชี้แจงคำอภิปรายของเพื่อนสมาชิก 1.เรื่องเงินเฟ้อ 2.ราคาปุ๋ย 3.การส่งออก 4.การขาดแคลนอาหารของโลก 5.ข้าวและ6.ซอฟพาวเวอร์
ประเด็นแรกเรื่องเงินเฟ้อ เกิดจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเกิดทั่วโลก ราคาเดือน พ.ค.ปีนี้ เทียบกับปี 64 ราคาดูไบเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 60% ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าและการขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก
ประเทศไทยเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดี IMF ประเมินใน World Economic Outlook ระบุว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเงินเฟ้อต่ำที่สุดในโลก และคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 3.5% เป็นลำดับที่ 163 จาก 192 ประเทศ
สำหรับราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคไม่ได้ราคาขึ้นทั้งหมด มี 3 กลุ่มคือ 1.ราคาสูงขึ้น 2.ราคาทรงตัวและ 3.ราคาลดลง กลุ่มที่ตรึงราคาคือสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภค 18 หมวด น้ำอัดลมที่มีข่าวว่าจะขึ้นราคายังไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังไม่มีการปรับขึ้นราคาแต่ปรับระบบบริหารจัดการภายใน ราคาขายปลีกยังซองละ 6 บาทคงเดิม
และค่าขนส่งแพลตฟอร์มต่างๆยังไม่มีการปรับขึ้น และหลายตัวที่ราคาลดลง เช่น ATK ลดลง 30% ข้าวสารถุง ลดลง 7% เครื่องใช้ไฟฟ้าลดราคา 10-70% ชุดนักเรียน เครื่องแต่งกายรองเท้าลดราคาลงในโครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน และมีการจัดต่อเนื่อง
แต่มีหลายตัวที่ราคาปรับสูงขึ้น เช่น น้ำมันปาล์มขวด เพราะต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้น เพราะมีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน 1.เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน 2.ผู้ประกอบการโรงสกัดโรงกลั่นและ3.ผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาแบบ วิน-วินโมเดล ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน กำหนดโครงสร้างราคาและขอความร่วมมือลดราคา
เราทำสำเร็จราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้าง และใช้นโยบายเชิงรุกและเชิงลึกแก้ปัญหาราคาสินค้าตั้งแต่ต้น กำกับราคาสินค้าให้สมดุลกับทุกฝ่าย ทำให้สามารถกำกับตัวเลขเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำได้
เรื่องปุ๋ยซึ่งแพงขึ้นจริงกระทบเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จับมือกันช่วยกันแก้ปัญหาทำได้สำเร็จในระดับหนึ่ง ปุ๋ยต้องแก้ปัญหา 2 ข้อ 1.เรื่องราคาไม่ให้ค้ากำไรเกินควร 2.ปริมาณไม่ให้ปุ๋ยขาดแคลน
ซึ่งเรากำกับปริมาณให้เพียงพอต่อการใช้ของเกษตรกรในประเทศ ซึ่งปุ๋ยต้องนำเข้า 100% ราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลกซึ่งปุ๋ยผลิตจากน้ำมัน และค่าขนส่งก็ใช้น้ำมันทำให้ราคาแพงขึ้นทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบราคาปุ๋ยกับหลายประเทศในโลกพบว่าราคาปุ๋ยบ้านเราต่ำกว่าหลายประเทศในโลก
วันที่ 11 พ.ค.65 ธนาคารโลกทำตารางเปรียบเทียบราคาปุ๋ยของโลก พบว่าราคาปุ๋ยเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้น 30% แต่ราคาปุ๋ยของไทยเพิ่มขึ้น 5.9%ต่ำกว่าอัตราเพิ่มเฉลี่ยของโลก และเดือน เม.ย.65 เทียบกับปี 64 ราคาปุ๋ยโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 80% ประเทศไทยเพิ่มขึ้น 25.7%
ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯและผู้นำเข้าปุ๋ย จัดปุ๋ยราคาถูก 4.5 ล้านกระสอบถูกกว่าราคาตลาด 20-50 บาทต่อกระสอบ ซึ่งจบโครงการแล้ว และกำกับราคาปุ๋ยไม่ให้ปรับขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าจะหยุดนำเข้า และหากปล่อยไว้ต้องมาแก้ปัญหาปุ๋ยขาด จึงต้องสร้างสมดุลทั้งราคาและปริมาณให้นำเข้าได้
จึงพิจารณาต้นทุนประกอบด้วย1.ต้นทุนนำเข้า2.ต้นทุนการแบ่งบรรจุหีบห่อ 3.การบริหารจัดการค่าการตลาด 4.กำไร ซึ่งโครงสร้างใหม่จะน้อยกว่าโครงสร้างเดิม ปี 64 ทำให้นำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้น จึงไม่ขาดแคลนเหลือเรื่องราคา ไม่ให้ค้ากำไรเกินควรและเกินราคา
ตนได้สั่งการติดตามโดยเคร่งครัด ถ้าพบจะดำเนินคดีจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และในอนาคตกระทรวงพาณิชย์ โดยตนได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เจรจาผู้ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญของซาอุดิอาระเบียซื้อปุ๋ยราคาพิเศษจาก บริษัทยักษ์ใหญ่
ลำดับ 1 คือบริษัทซาบิคและลำดับ 3 บริษัทมาเด็น เจรจากับฝ่ายไทยเตรียมผู้นำเข้าหารือเจรจาปุ๋ย 3 ประเภท 1.ปุ๋ยยูเรีย 2.แอมโมเนียมฟอสเฟต 3.ฟอสเฟต รวม 800,000 ตัน จัดให้มีการพบปะกันในสัปดาห์หน้าและมีแผนเจรจาซื้อปุ๋ยราคาพิเศษกับประเทศอื่นๆไม่เว้นแม้แต่กับรัสเซีย ถ้าได้ราคาดีที่สุด
และเพื่อนสมาชิกอภิปรายว่ารัฐบาลนี้เข้ามาดูแลบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจปรากฏว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับสนิททุกตัวไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวการส่งออก ซึ่งจากขาวเป็นดำ การท่องเที่ยวอาจจะจริงจะโทษท่านนายกไม่ได้เพราะเป็นทั่วโลกจากการปิดประเทศ
เมื่อเปิดประเทศเมื่อไหร่มั่นใจว่าการท่องเที่ยวไทยเดินได้ทันที สำหรับการส่งออกถ้าบอกว่าเครื่องยนต์ส่งออกดับสนิท ตนว่าผิดโดยสิ้นเชิง เพราะช่วงโควิด วิกฤตเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าอเมริกา-จีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถผลักดันการส่งออกฝ่าวิกฤตไปได้อย่างงดงามเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและ GDP ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปี 64 ส่งออก +17.1% นำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท
และปีนี้ 4 เดือนแรก ม.ค.-เม.ย. ตัวเลขส่งออก +13.7% นำเงินเข้าประเทศ 3.2 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าปีนี้จะทำให้ได้มากกว่าปีที่แล้วอย่างน้อย 500,000 ล้านบาท รวมเป็น 9 ล้านล้านบาท การส่งออกยังเป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศไม่ใช่ดับสนิทอย่างที่เพื่อนสมาชิกเข้าใจ
และที่บอกว่าเรื่องโลกกำลังเผชิญวิกฤติอาหารขาดแคลนนี่คือโอกาสทองของสินค้าเกษตรไทย ไม่เห็นรัฐบาลให้ความสนใจในเรื่องนี้เลย ซึ่งไม่จริงรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง กระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้โดยตลอดแต่จะคิดเพียงจัดส่งสินค้าไปขายอย่างเดียวไม่พอ
รัฐบาลคิดกว้างกว่านั้น กระทรวงพาณิชย์คิดไกลกว่านั้น ต้องมองทั้ง 2 ด้าน ขณะที่เห็นว่าเป็นโอกาสในการส่งออกอาหารไปทั่วโลกต้องดูด้วยว่าถ้าส่งออกเพลินสต๊อกอาหารของไทยไม่พอใช้ เกิดวิกฤติขึ้นมาจะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องดู 2 ด้าน 1.สต๊อกอาหารในประเทศต้องเพียงพอก่อน 2.ถ้าเหลือจึงส่งออก ผ่านมาใช้หลักนี้เช่น ปาล์มตอนนี้ส่งออกเยอะมาก
แต่ถ้าส่งออกมากจะขาดแคลนจึงตั้งอนุกรรมการ 5 ฝ่าย ติดตามให้สต๊อกน้ำมันปาล์มบริโภคสำหรับคนไทยถ้าเหลือจึงส่งออก แบบวิน-วินโมเดลและรัฐบาลให้ความสำคัญในยามที่โลกขาดอาหาร เราดำเนินการตั้งแต่ต้น กำหนดสินค้าอาหารเป้าหมายที่จะส่งไปขายในต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น 1.กลุ่มข้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง ทดแทนข้าวสาลีที่ปลูกมากในรัสเซีย-ยูเครน
2.น้ำมันปาล์ม 3.กลุ่มน้ำตาลทราย 4.ไก่แปรรูป บุกตลาด 27 ประเทศสำคัญโดยเฉพาะตลาดใหม่ ทำให้การส่งออกอาหาร 4 เดือนแรก 65 ทำเงินเข้าประเทศ 2.3 แสนล้านบาท ข้าวส่งออก +36% แป้งข้าวเจ้า +6.1% น้ำมันปาล์ม +296% น้ำตาล +170% ไก่แปรรูป+23% เป็นต้น
และตนสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์วิเคราะห์ตลาด ประเทศห้ามส่งออกอาหารและวัตถุดิบจะกระทบประเทศไทยตรงไหน พบว่าประเทศที่ห้ามส่งออกอาหารส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เราไม่ได้นำเข้าจากเขาอยู่แล้วในปัจจุบันหรือนำเข้าน้อยมากยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยในปัจจุบันและตนสั่งการให้เฝ้าระวังจากมาตรการเร่งรัดการส่งออก
ส่วนใหญ่มีผลให้ราคาพืชผลการเกษตร ยุคนี้ดีทุกตัว ที่ห่วงว่าปีนี้จีนปิดด่านส่งออกไม่ได้ ตนเข้าไปแก้ปัญหาเชิงรุกและเชิงลึก จึงปรับปีนี้ส่งออกทางเรือมากขึ้นปัญหาน้อยมากและจะหมดฤดูผลไม้แล้ว ขอให้สบายใจว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรและในยามที่โลกขาดแคลนอาหาร เรานำอาหารส่งออกช่วยเกษตรกรนำเงินเข้าประเทศ
และเรื่องข้าวที่เพื่อนสมาชิกอภิปรายว่ารัฐบาลจัดงบแบบสิ้นหวังเรื่องข้าว รัฐมนตรีพาณิชย์ต้องหัดขายข้าวบ้างและรู้จักขายกลิ่น ขายรสชาติ ขายสีสันและคุณประโยชน์ของเมล็ดข้าวบ้าง ไม่ใช่ขายแต่แบบเดิมๆ ไม่งั้นไม่มีทางสู้เวียดนาม จีนได้
ทั้งหมดนี้เป็นความปรารถนาดีแต่รัฐบาลทำอยู่แล้วและทำอย่างมีแผนยุทธศาสตร์ข้าวจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 63-67 ประเด็นสำคัญเรามีจุดอ่อนเรื่องความไม่หลากหลายของพันธุ์ข้าว 5 ปีนี้ ต้องเพิ่มพันธุ์ข้าวให้ได้อย่างน้อย 12 สายพันธุ์ แต่ไม่ถึง 5 ปี
ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จัดประกวดเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้ 6 สายพันธุ์แล้ว และไทยส่งเมล็ดพันธุ์ที่มีทั้งกลิ่นและรสชาติ สีสันคุณประโยชน์แข่งในเวทีโลกจัดประกวดข้าวโลก 13 ครั้ง ประเทศไทยได้แชมป์โลก 7 ครั้ง
และในรัฐบาลนี้ได้ 2 ปีซ้อน และข่าวดีปีนี้ผู้จัดประกวดข้าวโลกจากอเมริกา โดยนิตยสาร The Rice Trader มาพบตนและร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและกระทรวงพาณิชย์จะจับมือกันจัดในประเทศไทยที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 15-17 พ.ย. จะมีผู้ซื้อขายเข้าร่วมงานนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คนจากทั่วโลกนอกจากโปรโมทการท่องเที่ยวอันดามันแล้ว
จะทำให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นในโลก ปีที่แล้วข้าวส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน แต่ปีนี้จะส่งออกข้าวได้มากขึ้นเพราะความหลากหลายของพันธุ์ข้าว ราคาที่แข่งขันได้ ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 7-8 ล้านตัน ในปีนี้จะช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้น
สุดท้ายเรื่อง Soft Power ที่จะอภิปรายว่างบปี 66 ไม่ตอบโจทย์นโยบาย Soft Power ความจริงรัฐบาลให้ความสำคัญกับ Soft Power ตนกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งมี Soft Power อยู่ในนั้นด้วย
กระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่อนุรักษ์สืบสาน Soft Power กระทรวงพาณิชย์ตนสั่งเป็นนโยบายตั้งแต่ปลายปีที่แล้วให้กรมส่งเสริมการการค้าระหว่างประเทศ ทำแผนส่งออก Soft Powerต่อไปต้องส่งออก Soft Power มีการกำหนดแผนส่งออก 4 สินค้าหลัก
1.อาหารกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศ 2.สุขภาพความงาม 3.สินค้าที่มีลักษณะสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย 4.ดิจิทัลคอนเทนท์ ภาพยนตร์ ละคร เกมส์ อนิเมชั่นใส่ความเป็นไทย Soft Power กำหนด 3 กิจกรรมใหญ่ 1.อบรมให้ความรู้พัฒนาผู้ประกอบการทุกภาค
2.พัฒนาสินค้าให้มีเรื่องราว 3.การเปิดตลาดที่ชื่นชอบอัตลักษณ์ไทยทั้งจีน สหรัฐฯ อาเซียนหรือเอเชียตะวันออก เพื่อให้เห็นภาพว่ารัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ตอบโจทย์การจัดงบประมาณในปีนี้อย่างไร