การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในวันที่ 3 น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ขึ้นอภิปรายต่อจากนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคพลังประชารัฐ และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย
น.ส.วทันยา อภิปรายถึง Soft Power งบประมาณ 2566 การทำงานเรื่อง Soft Power ยังเป็นลักษณะต่างกระทรวง ต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีแผนต่อเนื่องในระยะยาว ไม่มีแผนทางชัดเจน จึงอยากเสนอภาครัฐการใช้งบประมาณสร้างเศรษฐกิจด้วย Soft Power
1. ทำความเข้าใจคำว่า Soft Power ให้ตรงกัน ไม่เช่นนั้นแผนและยุทธศาสตร์จะคลาดเคลื่อนไปด้วย หนึ่งในอาวุธที่จะผลักดัน Soft Power ของไทยคือการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อศิลปะและบันเทิงที่จะสามารถเข้าถึงคนทั่วโลกได้ง่ายที่สุด
พร้อมยกตัวอย่างถึง มิลลิ - ดนุภา คณาธีรกุล (MILLI) แร็ปเปอร์สาวไทย กินข้าวเหนียวมะม่วงบนโคเชลลา (Coachella) มีกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้รับประโยชน์ ซึ่งรัฐต้องหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมสื่อศิลปะและบันเทิงให้มากขึ้น โดยเปรียบเทียบกับซีรีส์เกาหลีหรือศิลปิน
2. การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนเพื่อทำแผนระยะยาวไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบันเทิงไทยย่ำอยู่ที่เดิม
3. การสนับสนุนเงินทุนสร้าวเอกชนให้เกิดความเข้มแข็งและนำไปพัฒนาผลงานคุณภาพและพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข่งขันได้ ซึ่งงบกระทรวงวัฒนธรรม 6,747 ล้านบาท กว่า 90% ถูกนำไปใช้ในเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปะเดิมของประเทศ มีเพียงโครงการเดียวที่มีเกี่ยวข้องกับ Soft Power มากที่สุด คือ โครงการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มีงบประมาณเพียง 40 ล้านบาท จะทำภารกิจให้สำเร็จได้อย่างไร
ในช่วงท้าย น.ส.วทันยา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีภาระอันใหญ่หลวง การใช้งบประมาณด้วยความรอบคอบ แต่เรายังมีงบประมาณในกองทุนสื่อสร้างสรรค์ มีงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มีเงินทุนกว่า 60,000 ล้านบาท ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้พัฒนา
แต่กลับถูกนำไปใช้แบบกระจัดกระจาย จึงไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม หากนำเงินมารวมกันจะพบว่าเรามีงบประมาณมากพอที่จะผลักดัน Soft Power ได้ และอยากให้รัฐบาลปรับแผนเพื่อนำไปสู่อนาคตอีกหลายๆ เรื่อง และไทยยังไม่มีแผนใดๆ ในการรับมือกับ Metaverse