“ปิยบุตร แสงกนกกุล”เจอหมายเรียกคดี ม.112 ปมปฏิรูปสถาบัน

16 มิ.ย. 2565 | 11:06 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 18:17 น.

“ปิยบุตร แสงกนกกุล”โพสต์ถูกสน.ดุสิตออกหมายเรียกคดี ม.112 เกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปสถาบัน และเสนอให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(16 มิ.ย.65) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Piyabutr Saengkanonkul ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดุสิต ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ให้ตนไปพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน 


เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีนี้ ร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยนายเทพมนตรี ลิมปพะยอม ลงนามออกหมายเรียกโดย พ.ต.ท.พิชัย มีอัฐมั่น รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ดุสิต 

ตามหมายเรียกดังกล่าวให้ไปพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในวันอาทิตย์ที่ 12 มิ.ย. แต่เนื่องจากตนและทนายความติดภารกิจ จึงขอเลื่อนไปเป็นวันจันทร์ที่ 20 มิ.ย. เวลา 10.00 น.

 

“ผมนำเสนอความเห็นทางวิชาการ เขียน อภิปราย เกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและระดับพระราชบัญญัติมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมือง ตลอดเวลามากกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน ไม่มีการแสดงความเห็น การเขียน การพูดของผมครั้งใดที่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างแน่นอน” นายปิยบุตร ระบุ

นายปิยบุตร ระบุตอนหนึ่งด้วยว่า “ตลอดชีวิตของผม ไม่เคยเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมือง ก่อตั้งพรรคการเมือง ผมจึงได้เป็นผู้ต้องหาครั้งแรกในคดีดูหมิ่นศาล และความผิดอาญาทางคอมพิวเตอร์ และเป็นจำเลยครั้งแรกในคดีความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะและความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 


ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี่เป็นครั้งแรกที่ผมถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ กลายเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานนี้ ไม่ต้องคิดอย่างสลับซับซ้อนก็คงตอบได้ว่า สถานะผู้ต้องหาและจำเลยในคดีเหล่านี้ ผมได้มาก็เพราะสัมพันธ์กับบทบาททางการเมือง”