วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(รมช.มท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง “แนวทางการบูรณาการบริหารงบประมาณโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ” จัดโดยคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
โดยมี พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร ผู้แทนมูลนิธิกู้ชีพกู้ภัย เข้าร่วม
นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เราทราบดีว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นความทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา และนำความเสียหายมาให้แก่ประเทศชาติมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินหลายหน่วยงาน ก่อให้เกิดความสับสนกับประชาชน และยากต่อการจดจำที่จะเข้าถึงการบริการ
เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2561 ให้ยกระดับ 191 ให้เป็น “ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ” ให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติเลขหมายเดียว โดยให้ สตช.รับผิดชอบ
และก็ให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการยกเลิกเลขหมายในระบบฉุกเฉินเลขหมายอื่น ๆ เพื่อลดความสับสนของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและลดภาระงบประมาณของประเทศ
การสัมมนาเชิงวิชาการในวันนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ ให้แก่บุคลากรขององค์กรส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงแนวทางการบูรณาการโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ในมิติเชิงพื้นที่ขององค์กรส่วนภูมิภาคและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยเน้นสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ฯ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการดูแลความปลอดภัย พร้อมให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุได้อย่างท่วงที
เริ่มตั้งแต่การรับแจ้งเหตุ สั่งการ เผชิญเหตุ ควบคุม ติดตาม ตรวจสอบ การสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นจะได้ หาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันให้สามารถประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการ