เทียบความต่างสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 และ 500 ต่างกันอย่างไร  

04 ก.ค. 2565 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2565 | 23:20 น.

เทียบสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 และ 500 ต่างกันตรงไหน ใครได้ ใครเสียประโยชน์ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

ในช่วงสองสามวันนี้คอการเมืองคงต้องจับจ้องเกาะติดการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 และ 500 เชื่อมั่นว่า จะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางจากเหล่า ส.ส.พรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้โดยตรง 

 

สำหรับความแตกต่างของสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 และ 500 นั้น 
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยได้อธิบายเกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ แบบหาร 100 เอาไว้ดังนี้ 

สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 

คือ จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไปหารด้วยคะแนนรวมในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศ จนได้ตัวเลขเป็นฐานคะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แล้วนำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองมาดูว่า ได้คะแนนเท่าใด แล้วจึงคิดออกมาเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะคว้าได้ในสภาฯ จนครบ 100 คน

 

ตัวอย่างการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 

หากบัตรคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ รวมกันแล้วมีทั้งสิ้น 37,000,000 คะแนน ก็นำ 37,000,000 ไปหารด้วย 100 ก็จะเท่ากับได้ 370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน 

 

หากย่อยลงมาให้เห็นชัด ๆ คือ พรรค ก. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 1,000,000 คะแนน เมื่อนำ 370,000 คะแนน ไปหาร พรรค ก. ก็จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2.7 คน หรือ 2 คน  

สูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 

สำหรับสูตรนี้ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ในฐานะ กมธ.ซึ่งใช้สิทธิเสนอแปรญัตติในชั้น กมธ. เป็นหนึ่งในกมธ.เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ได้อธิบายสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 นี้ไว้ 2 แบบด้วยกัน ดังนี้ 


แบบที่ 1

การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือ การนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศไปหารด้วย 500 เช่น 37 ล้าน หารด้วย 500 ก็จะเท่ากับ 74,000 โดยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค ก คือ ผลรวมคะแนนพรรคของพรรค ก จากทุกเขต คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน 1,000,000÷74,000 = 13.5 ส.ส. 

 

ส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็คือ จำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส.เขตพรรค ก 

 

ตัวอย่าง ส.ส.พึงมี (13.5)–ส.ส.เขต(7) = ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 6.5


แบบที่ 2

การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน ก็คือ ผลรวมคะแนนเขต + คะแนนพรรคของทุกพรรค หาร 500 

 

ยกตัวอย่างเช่น  37 ล้าน + 37 ล้าน = 74 ล้าน = 148,000

 

จากนั้น นำคะแนนเขตทั้งหมดพรรค ก + คะแนนพรรคทั้งหมดพรรค ก คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน

 

ตัวอย่าง = 1,000,000+800,000 หารด้วย 148,000 = 1,800,000 ÷148,000 = 12.16 คน

 

ส่วนวิธีหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส. เขต พรรค ก

 

ตัวอย่าง = ส.ส.พึงมี (12.16 คน) – ส.ส.เขต (7) = ส.ส.บัญชี 5 คน

 

ทั้งนี้ นพ.ระวี หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวยืนยันว่า สูตรคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 แบบที่ 2 นี้ เป็นการคิดแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทุกเสียงไม่ตกน้ำทั้งเขตและพรรค สมมติพรรคหรือคนที่เราเลือกไม่ชนะก็ยังถูกนำมาคิดทั้งหมด

 

เทียบความต่างสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 และ 500 ต่างกันอย่างไร