“พรรคสร้างอนาคตไทย”หนุนสูตรคำนวณปาร์ตี้ลีสต์หาร 100 เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน

05 ก.ค. 2565 | 07:49 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2565 | 15:15 น.

“พรรคสร้างอนาคตไทย”หนุนสูตรคำนวณปาร์ตี้ลีสต์หาร 100 เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ชี้ หาร 500 ไม่สอดคล้องเจตนารมณ์รธน. ปลื้มบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ประชาชนอิสระเลือกพรรค-ส.ส. ลั่นกติกาที่เป็นกลาง ต้องไม่มีใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ

วันนี้(5 ก.ค.65) นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) และผู้อำนวยการพรรค กล่าวถึงแนวคิดการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  ในประเด็นการคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลีสต์) ที่มีผู้เสนอให้หารด้วย 500 แทนการหารด้วย 100 ว่า การใช้หลักการส.ส.พึงมี โดยวิธีคำนวณหารด้วย 500 ตามมาตรา 91 เดิม และอ้างเจตนารมณ์ประกอบมาตรา 94 ที่ยังไม่ได้แก้ไข ส่วนตัวเห็นว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง  


“ผมมีความเห็นว่าในทางข้อกฎหมายนั้นอธิบายได้ยาก และไม่สอดคล้องกับเหตุ และผล คือสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรง เรามีบัตรเลือกตั้งลงคะแนนให้กับส.ส.เขต แล้วก็มีบัตรเลือกตั้งลงคะแนนให้กับส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่เวลาการคำนวณกลับกำหนดวิธีคำนวณโดยนำคะแนนบัตรทั้ง 2 ใบมารวมกัน ซึ่งตรงนี้ไม่ชอบด้วยหลักการและเหตุผล” 

นายวิเชียร กล่าวว่า ส่วนประเด็นการโต้แย้งกันว่า ขัดรัฐธรรมนูญจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีกระบวนการที่แตกต่างจากการเขียนกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อื่นทั่วไป คือจะมีการกำหนดกระบวนการที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอยู่ในกระบวนการเลย คือ การเข้าชื่อโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งมา หรือส.ส. ในสภาเข้าชื่อกันแล้วไปพิจารณาโดยใช้การประชุมรัฐสภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรประชุมร่วมกัน เหมือนที่กำลังพิจารณาอยู่ 


และเมื่อรัฐสภาลงมติเป็นประการใด ก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากมีความเห็นเป็นประการใดก็ส่งกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ต้องใช้เวลาไม่เกิน 65 วัน ภายหลังจากที่รัฐสภาเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว  

ดังนั้น การแก้ไข พ.ร.ป. ทุกอย่างถูกบังคับด้วยเวลา และเวลาก็กำหนดกระบวนการวิธีไว้ครบถ้วนแล้ว ตนจึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร รัฐสภาสามารถใช้ดุลยพินิจของสมาชิกในการลงมติการอภิปรายเพื่อให้เหตุ และผล ก็เป็นสิทธิของสมาชิกที่จะให้ความเห็นได้ ซึ่งในที่สุดเชื่อว่าสมาชิกจะวินิจฉัยไปตามเหตุ และผลของกฎหมายที่ระบุไว้ ทั้งนี้ ตนคาดว่ากระบวนการน่าจะเสร็จสิ้นปลายเดือนสิงหาคม 


อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ทำให้แต่ละเขตเลือกตั้งเล็กลงมีความใกล้ชิดของประชาชน และส.ส.เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนที่ชอบ และเลือกพรรคการเมืองได้โดยอิสระ ไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจเลือกรวมด้วยบัตรใบเดียว และการคิดคำนวณส.ส.เข้าใจได้ง่าย คือ คะแนนรวมหารด้วยจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เป็นที่เข้าใจได้ไม่ซับซ้อน 


“สำหรับการใช้สูตรหาร 500 นั้น ผมไม่อยากสรุปว่าวิธีการของการเลือกตั้ง และการคิดคะแนนจะมาตัดสินว่าทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีโอกาสในการเลือกตั้ง เพราะเท่ากับว่าเรากำลังนำกติกามากำหนดอนาคต เพราะอนาคตของพรรคการเมืองมันอยู่ที่การกระทำ แนวนโยบาย และสิ่งที่พรรคการเมืองต้องนำเสนอต่อประชาชนให้เขาศรัทธา 


และเชื่อถือ ถ้าเราไปอ้างว่ากติกานี้ทำให้ฉันได้เปรียบก็เหมือนกับมองข้ามประชาชน ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าคนที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศเพื่อให้เขาอยู่ดีมีสุขควรจะเป็นพรรคแบบไหน อย่างไร เราต้องเคารพในสิ่งเหล่านี้

 

ถ้าเรามองข้ามก็เท่ากับเราไม่เคารพในเสียงหรือผู้ลงคะแนนให้ ต้องคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศ ไม่ว่ากติกาจะเป็นแบบไหนเราก็พร้อมที่จะดำเนินการ เพราะถ้าเราออกกติกา และมีความเห็นว่ากติกานี้ทำให้เราได้เปรียบมันก็แสดงว่ากติกานั้นไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นกลาง และเป็นธรรมต้องไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ” นายวิเชียร กล่าว