วันนี้(6 ก.ค.65) ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีตรมว.คลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยเดือน มิ.ย. 2565 สูงขึ้นถึงร้อยละ 7.66 และเมื่อย้อนดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่เดือน ม.ค. อยู่ที่ร้อยละ 3.23 เดือน ก.พ.อยู่ที่ร้อยละ 5.28 เดือน มี.ค. ร้อยละ 5.73 เดือน เม.ย. ร้อยละ 4.65 และเดือน พ.ค. ร้อยละ 7.10
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า อัตราเงินเฟ้อประเทศไทยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งชี้ว่าประชาชนยังต้องเผชิญกับความเดือดร้อนเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ขณะที่ด้านผู้ประกอบการก็ยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงต่อไป และที่สำคัญผลกระทบนี้ก็ยังอาจจะขยายวงกว้างเร็วกว่าที่คาด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์
จากการที่ล่าสุดรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ นายกฯ เป็นประธานด้วยตัวเอง ส่วนอีกชุดคือ คณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผลวิเคราะห์ผลกระทบ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกมิติ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นที่คณะกรรมการดังกล่าวรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งวางมาตรการที่เหมาะสม และกำหนดแนวทางขับเคลื่อนให้ตรงเป้ามีผลจริงจังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการนั้นประเด็นสำคัญคือ วิกฤตซ้ำซ้อนที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด ราคาพลังงานที่พุ่งสูง ภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย ได้ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ
โดยเฉพาะการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับสูง (แน่นอนบางขณะมีความจำเป็น แต่ต้องใช้เงินที่กู้มาอย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง) ประกอบกับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น กำลังทำให้ความยืดหยุ่นและทางเลือกในการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจปากท้องประชาชนของรัฐบาลกำลังมีข้อจำกัดยิ่งขึ้น
สถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นความท้าทายสำคัญยิ่งของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ที่กำกับดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ ผมจึงเห็นว่ารัฐบาลควรมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้
ประการแรก การดูแลประชาชนและผู้ประกอบการ ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง แต่ขณะที่การคลังมีข้อจำกัดมากขึ้นนั้น รัฐบาลควรพิจารณากำหนดชุดมาตรการอย่างรอบคอบให้ตอบโจทย์ โดยคำนึงถึงการจัดลำดับความเร่งด่วน ความจำเป็นในการดูแลแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในลักษณะต่างๆ ให้ชัดเจน
ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ด้านการลงทุนและอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความสมดุล ระหว่างการดูแลสภาวะเงินเฟ้อขาขึ้น เช่น ด้วยนโยบายการเงินที่จะนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น กับการดูแลสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ด้วยมาตรการด้านการคลังต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้จริงและต่อเนื่อง ผู้ประกอบการอยู่รอดและมีโอกาสเติบโต
“ผมหวังว่าคณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้น จะได้ทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีความอ่อนไหวสูงและเปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ จึงต้องมีการบริหารจัดการความท้าทายที่เรากำลังเผชิญให้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพครับ” หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ระบุ