วันนี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระ 2-3 ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ พิจารณาเสร็จแล้วเป็นวันที่ 2
หลังจากใช้เวลาถกกันอย่างดุเดือดอยู่หลายชั่วโมง ล่าสุดในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.วันนี้ในประเด็นสูตรการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 100 และ 500 ในมาตรา 23
โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติโหวต เห็นด้วยให้คงร่างเดิม กมธ.ที่ใช้สูตรหาร 100 ด้วยคะแนน 160 เสียง ไม่เห็นด้วย 392 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 577 คน
ซึ่งจำนวนเสียงไม่เห็นด้วยนั้นได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาที่มีสมาชิกทั้งหมด 726 เสียง (ส.ส. 477 เสียง และ ส.ว. 249 เสียง) หรือ 363 เสียงขึ้นไป
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติร่างที่มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติซึ่งผลปรากฎว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ด้วยคะแนน 354 ต่อ 162 งดออกเสียง 37 ไม่ลงคะแนน 4
ทั้งนี้ ช่วงเช้าของวันนี้ (6 กรกฎาคม) นายสมคิด เชื้อคง นายองอาจ วงษ์ประยูร และนายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส. พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวเกี่ยวกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางก่อนมีมติโหวตในวันนี้ว่า ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 132 รวมทั้งส่งศาลฎีกา หรือ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง คือ กกต. เพื่อให้ความเห็นชอบด้วย
สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500
นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (พธม.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ได้อธิบายสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 เอาไว้ดังนี้
แบบที่ 1
การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือ การนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศไปหารด้วย 500 เช่น 37 ล้าน หารด้วย 500 ก็จะเท่ากับ 74,000 โดยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค ก คือ ผลรวมคะแนนพรรคของพรรค ก จากทุกเขต คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน 1,000,000÷74,000 = 13.5 ส.ส.
ส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็คือ จำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส.เขตพรรค ก
ตัวอย่าง ส.ส.พึงมี (13.5)–ส.ส.เขต(7) = ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 6.5
แบบที่ 2
การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน ก็คือ ผลรวมคะแนนเขต + คะแนนพรรคของทุกพรรค หาร 500
ยกตัวอย่างเช่น 37 ล้าน + 37 ล้าน = 74 ล้าน = 148,000
จากนั้น นำคะแนนเขตทั้งหมดพรรค ก + คะแนนพรรคทั้งหมดพรรค ก คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน
ตัวอย่าง = 1,000,000+800,000 หารด้วย 148,000 = 1,800,000 ÷148,000 = 12.16 คน
ส่วนวิธีหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส. เขต พรรค ก
ตัวอย่าง = ส.ส.พึงมี (12.16 คน) – ส.ส.เขต (7) = ส.ส.บัญชี 5 คน
สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ... รัฐสภา ได้อธิบายสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ แบบหาร 100 เอาไว้ว่า
คือ จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไปหารด้วยคะแนนรวมในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศ จนได้ตัวเลขเป็นฐานคะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แล้วนำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองมาดูว่า ได้คะแนนเท่าใด แล้วจึงคิดออกมาเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะคว้าได้ในสภาฯ จนครบ 100 คน
ตัวอย่างการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100
หากบัตรคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ รวมกันแล้วมีทั้งสิ้น 37,000,000 คะแนน ก็นำ 37,000,000 ไปหารด้วย 100 ก็จะเท่ากับได้ 370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน
หากย่อยลงมาให้เห็นชัด ๆ คือ พรรค ก. ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 1,000,000 คะแนน เมื่อนำ 370,000 คะแนน ไปหาร พรรค ก. ก็จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2.7 คน หรือ 2 คน