วันที่ 7 ก.ค.2565 ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค
ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภามติเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 23 ของร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตามกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างน้อย ที่ให้ใช้สูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสมโดยเอา 500 หาร
นายชัยธวัช กล่าวว่า เรายืนยันมาโดยตลอดว่าการแก้ไขระบบการเลือกตั้งผ่าน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เป็นระบบที่หาร 500 นั้นขัดต่อ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเจตนาชัดเจนทั้งบทบัญญัติและการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ต้องการที่จะเปลี่ยนไปใช้สูตรการเลือกตั้งแบบคู่ขนานไม่ใช่แบบระบบสัดส่วนผสมอย่างที่ทางพรรค ก.ก.ได้เคยเสนอ
การลงมติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ไม่ได้เป็นไปเพื่อต้องการจะออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ดีให้แก่ประชาชน แต่เป็นการลงมติเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการสืบทอดอำนาจ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพียงเท่านั้นจนนำไปสู่การโหวตที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
“เป็นการลงมติที่อัปยศที่สุด เพียงเพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นพรรคก้าวไกลยังยืนยัน ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ. การเลือกตั้ง และจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด รวมถึงคัดค้านกระบวนการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์
และจะร่วมมือกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและพี่น้องประชาชน เพื่อออกจากระบบประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตีความ 8 ปีนายกฯ จะทำอย่างถึงที่สุด” นายชัยธวัชกล่าว
เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ส่วนร่างพ.ร.บ. ฉบับที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้ หากว่าผ่านรัฐสภาไปได้ ตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะต้องส่งไปให้ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง
หากมีความเห็นส่งกลับมาว่าร่างพ.ร.บ. ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกส่งกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขอีกครั้งซึ่งหากเกิดกระบวนการแบบนั้น จะมีการต่อสู้อย่างเต็มที่ ให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ให้ชอบต่อรัฐธรรมนูญให้ได้
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า การแปรญัตติของตนที่ยื่นไปนั้น เพราะเห็นว่าร่างของกมธ.เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นร่างเดียวกับที่ยื่นไปในวาระที่ 1 เป็นร่างที่ไม่รอบคอบ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เพื่อจะบอกว่ากติกาในรัฐธรรมนูญปี 2540 ดีที่สุด
แต่เมื่อมีการร่างกฎหมายลูก กลับมีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2554 มาใช้ในครั้งนี้ จึงเกิดเป็นการเลือกตั้งแบบลูกผสม และสุดท้ายเมื่อมีการกลับไปคำนวณถึงคะแนนที่มีการเลือกตั้งกับครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปัญหาคือการเกิดส.ส.ปัดเศษ
นั่นหมายความว่าเกิดส.ส. ที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ อาจจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นจำนวนมาก และอาจจะมีผลทำให้ 2 พรรค ที่มีผลคะแนนต่างกันถึง 3 เท่าตัว กลับได้จำนวนส.ส. เท่ากัน
ฉะนั้นตนจึงยื่นร่างแปรญัตติที่แตกต่างออกไปเพียงเล็กน้อย แต่มีผลที่ออกมาจะแตกต่างกันมาก และอาจจะสอดคล้องมากกว่าร่างของกมธ. จึงเป็นเหตุผลว่าพรรค ก.ก. ยืนยันไม่เห็นด้วยกับกมธ. เสียงส่วนใหญ่ แต่เห็นด้วยกับร่างหาร 100 ในแบบที่ตนแปรญัตติไป เพื่อไม่อยากให้มีข้อครหาเหมือนการเลือกตั้งปี 2562
ด้าน นายรังสิมันต์ กล่าวว่าทุกคนคงทราบว่าในตอนแรกจะเป็นการหาร 100 แต่เมื่อวันสองวันที่ผ่านมาก็พลิกกลับ ตนสงสัยว่าที่ชอบพูดกันว่าส.ว. เป็นอิสระ ตรงไหนคือความอิสระ ส่วนส.ส.รัฐบาล ไม่แน่ใจว่าไปคุยกันตอนไหน แต่เข้าใจว่าคงไปคุยกันที่ทำเนียบฯ
หมายความว่าการทำหน้าที่ของสภาแห่งนี้ ของส.ว.ไม่ได้เป็นความอิสระจริงๆ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลับไปใช้ระบบที่หาร 500 ซึ่งเป็นการตอกย้ำการสืบทอดอำนาจ
"นี่ไม่ใช่การออกแบบระบบเลือกตั้งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่เป็นการออกแบบที่อยู่บนพื้นฐานว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่มีประชาชนอยู่ข้างในเลย" นายรังสิมันต์ ระบุ