นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลย พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งสปายแวร์ แฮกระบบ คอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ หลอกขายของออนไลน์ หลอกลงทุน กำลังกัดกินประเทศไทย โดยที่ผ่านมายังไม่เห็นการแก้ปัญหา ไม่มีความใส่ใจแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ขาดความรู้ความสามารถ ปล่อยปละละเลยไม่แก้ไขปัญหาเรื่องอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปล่อยให้ประชาชนเสี่ยงภัย เสี่ยงสูญเสียทรัพย์สิน ทำลายระบบเศรษฐกิจ มุ่งแต่ใช้อำนาจรักษาความมั่นคงของรัฐบาล
โดยจุดเริ่มต้นปัญหาเกิดจากการปล่อยปละละเลย เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และการดักข้อมูลเอสเอ็มเอส ทำให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆขึ้นมา ทั้งชวนลงทุน เล่นพนันหรือหลอกข้อมูลประชาชนที่ต้องการลงทะเบียนปลูกกัญชา และข้อมูลที่ถูกขโมยไป ก่อให้เกิดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไทยกลายเป็นประเทศที่ดึงดูดสแกมเมอร์ นักหลอกลวงที่เห็นช่องว่างเข้ามาในประเทศเรา แต่เราไม่เห็นความพยายามหรือหลักฐานจัดการของรัฐบาลเลย ส่วนเว็บพนันออนไลน์หลายเว็บเปิดมานานมาก และอาจมีความเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ ทำไมรัฐไม่ปิดเว็บ ต่อให้มันเปิดเว็บใหม่ก็ต้องปิด
ส่วนปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ล่าสุดที่มีการทลายจุดปล่อยสัญญาณแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตำรวจเปิดเผยว่าอุปกรณ์ที่ยึดได้สามารถโทรหลอกประชาชนได้มากถึง 7 แสน- 1 ล้านครั้ง ตนสงสัยว่าทำไมไม่มีการควบคุมคนนำเข้า คนซื้อขายอุปกรณ์เหล่านี้ ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ ยังขยายไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีการถูกหลอกไปทำงานคอลเซ็นเตอร์เพื่อหลอกคนไทยอีกที
นายศรัณย์ กล่าวต่อไปว่าปัญหาทั้งหมดไม่รู้ว่าท่านปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจให้ทำ ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดมูลค่าเสียหายต่อปีเป็นหลักแสนล้าน หากเราจัดการเรื่องนี้ได้ นายกฯ ได้เรือดำน้ำฟรีเลย ดังนั้นการที่ท่านอยู่ต่อจะสร้างความเสี่ยง ความสูญเสีย ความเจ็บปวดให้ประชาชน ตนจึงไม่สามารถไว้วางใจได้
ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบข้อสักถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย โดยระบุ ทุกประเทศที่มีอินเตอร์เน็ตก็มีปัญหาเช่นกัน ยืนยันว่ารัฐบาลก็พยายามเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การที่บอกว่ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาถือเป็นการพูดโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการความมั่นทางไซเบอร์แห่งชาติ มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานที่มีข้อมูลสำคัญเช่นสถาบันการเงิน โรงพยาบาลเพื่อป้องกันการถูกโจมตีหรือแฮกข้อมูล
นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูล ซึ่งเพิ่งบังคับใช้ เพราะประชาชนที่จะทำธุรกรรมออนไลน์หรือซื้อของออนไลน์ต้องให้ข้อมูลกับหน่วยงานหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมีบางหน่วยที่นำข้อมูลขายให้กับแก็งคอลเซ็นเตอร์ แล้วโทรมาหาประชาชนตามที่มีข่าวอยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อเราบังคับใช้กฎหมายปัญหาก็จะลดน้อยลง
“ยอมรับว่าปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีเรื่องร้องเรียนมาหาผมจำนวนมาก บางคนสูญเงินหลายล้านจนหมดเนื้อหมดตัว ผมก็สงสาร แต่ไม่คิดว่าจะโดนหลอกได้ขนาดนี้ ทั้งที่ทำงานมีเงินหลายล้านบาท แต่กลับถูกหลอกได้ ซึ่งผมก็พยายามมาโดยตลอด โดยประสานกับ กสทช. สิ่งที่ผมอยากจะทำคือการจับกุมดำเนินคดีแก็งคอลเซ็นเตอร์ให้ได้ ถ้าอยู่ในประเทศไทยไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้ไปอยู่ในประเทศเพื่อบ้าน นอกจากนี้เรายังประสานกับทางประเทศกัมพูชาเพื่อจัดการกับแก็งคอลเซ็นเตอร์ต่างๆ”
นายชัยวุฒิ กล่าวยืนยันว่าพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเป็นห่วงประชาชน ในเรื่องของการสื่อบนโลกออนไลน์อย่างมาก และอยากแก้ปัญหานี้ให้ดีที่สุด เพราะนอกจากเราจะคุ้มครองประชาชนแล้วเรายังคิดว่า การที่เราสร้างระบบธุรกรรมออนไลน์ โซเชียลมีเดียที่ปลอดภัยกับประชาชน จะทำให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นเข้ามาทำธุรกิจ ติดต่อสื่อสารกันอย่างเต็มที่ และทำให้ธุรกิจเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต สร้างรายได้ให้กับคนไทยได้ และนี่คือหัวใจสำคัญที่เราทุกคนต้องขับเคลื่อนร่วมกัน