20 กรกฎาคม 2565 ในการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 โดย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายในประเด็นการคัดเลือกเอกชนในการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์
โดยระบุว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เป็นประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ นั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ EEC
เนื่องจากไม่มีการเปิดให้มีการประมูลแข่งขัน ซึ่งผิดกฎหมาย มีการหนี พรบ.ร่วมทุน เอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่ไม่มีศักยภาพ และทำให้ค่าน้ำแพง สร้างความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC
โดยนายยุทธพงศ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกต ว่า ในการคัดเลือกเอกชน กรมธนารักษ์ ปกปิด ไม่ให้ข้อมูลโครงการอย่างทั่วถึง โดยมีการเชิญเอกชนเพียง 5 ราย เพื่อเข้าร่วมทดสอบความสนใจ ได้แก่ บมจ. อีสท์วอเตอร์ , บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ , บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น , บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และ การประปาส่วนภูมิภาค แต่ไม่เชิญเอกชนรายใหญ่ที่มีศักยภาพอีกหลายรายมาให้ความคิดเห็น เช่น บจ.อควาไทย และ TTW หรือ ช.การช่าง เป็นต้น
แต่เมื่อถึงเวลายื่นข้อเสนอ ปรากฎว่า กรมธนารักษ์เชิญบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมทดสอบความสนใจเพียง 3 ราย ได้แก่ บมจ.อีสท์วอเตอร์ , บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น
และอนุญาตให้ผู้รับเหมา 2 ราย ได้แก่ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง(รับจ้างวางท่อ) และ บริษัท วิค (ขายท่อน้ำประปา) ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมทดสอบความสนใจ เข้ามาร่วมยื่นข้อเสนอได้
ขณะที่ในการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 1 กรมธนารักษ์ให้น้ำหนักกับข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านราคา แต่ปรากฎว่าเอกชนที่ต้องการจะเอื้อประโยชน์ให้นั้น ได้คะแนนน้อยกว่า จึงจัดฉากล้มการประมูล โดยอ้างว่า TOR ไม่สมบูรณ์
และในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 กรมธนารักษ์กลับให้น้ำหนักเฉพาะข้อเสนอด้านราคาอย่างเดียว ขัดแย้งกับหลักการที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้อนุมัติไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่แพ้ในครั้งแรก
“ท้ายที่สุดกลับได้ บริษัท วงษ์สยาม จำกัด ซึ่งเป็นเพียงผู้รับเหมาก่อสร้างวางท่อน้ำ ไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และไม่เคยมีประสบการณ์บริหารท่อส่งน้ำมาก่อน เป็นผู้ชนะการคัดเลือก”
นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในการเจรจาก่อนลงนาม กรมธนารักษ์ยังทำผิดเงื่อนไขใน TOR เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ชนะการประมูล จาก TOR ที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินงวดแรกให้รัฐ วงเงิน 1,450 ล้านบาท เต็มจำนวนในวันที่มีการลงนามสัญญา แต่กรมธนารักษ์ได้ช่วยให้มีการแบ่งชำระเป็น 2 งวด โดยงวดแรกให้ชำระเพียง 40% ในวันลงนามสัญญา และอีก 60% ให้ชำระในวันที่กรมธนารักษ์ได้ส่งมอบท่อส่งน้ำให้กับบริษัทวงษ์สยามแล้ว
ดังนั้นจึงไม่สามารถไว้วางใจ ให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ บริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ในหน่ายงานที่กำกับดูแล เอื้อประโยชน์ให้เอกชน ไม่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ
พร้อมระบุ ที่ตนอภิปรายนั้น ไม่ได้มีการรู้จักกับบริษัท อีสท์วอเตอร์ หรือ บริษัท วงษ์สยาม แต่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักใน EEC โดยให้มีการประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอุปโภคและบริโภคในราคาที่เป็นธรรม และเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมใน EEC มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น
และหากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุตามกฎหมาย ปล่อยให้มีการลงนามในสัญญา ตนก็จะดำเนินการฟ้องร้องต่อคณะกรรมการ ปปช. และศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนายอาคม และนายสันติ ต่อไป