นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไต่สวนผู้ถูกกล่าวหา จีรวรรณ อุณาพรหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเกษตรจังหวัดสุรินทร์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 01-2-075/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 308-2-5/2559
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ ครั้งที่ 806-80/2559 วันที่ 18 ตุลาคม 2559 เรื่องกล่าวหา จีรวรรณ อุณาพรหม นั้น ผู้ถูกกล่าวหา มีพฤติการณ์ สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำเอกสาร ยืมเงินราชการ และค่าใช้จ่าย ในโครงการฝึกอบรม เป็นเท็จ แล้วเบียดบังเงินไปเป็น ประโยชน์ส่วนตน
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า จีรวรรณ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 147 มาตรา 152 ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 และให้ส่งสำนวนต่ออัยการเพื่อสั่งฟ้องศาลที่มีอำนาจ
ศาลอาญาคดีทุจริตและ ประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่อท 52/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อท 36/2563 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147(เดิม), 151(เดิม) จำคุกกระทงละ 5 ปี ในทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ กระทงละหนึ่งในสาม ตามมาตรา 78 คงจำคุก กระทงละ 3 ปี 4 เดือน จำนวน 13 กระทง รวมจำคุก 39 ปี 42 เดือน (ไม่รอการลงโทษ)
ให้จำเลยคืน เงินจำนวน 662,213 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท. 508/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1886/2564 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า จำเลยกระทำผิดรวม 8 กระทง รวมจำคุก 24 ปี 32 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 138,106 บาท แก่ ผู้เสียหาย
นอกจากที่ แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 139/2564 วันที่ 22 กันยายน 2564 พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ ในกรณีที่อัยการสูงสุด จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ