นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรัง รับเรื่องกล่าวหาพฤติกรรมการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ ความผิดที่เกี่ยวข้อง ของนายประยูร หนูสุก วัฒนธรรมจังหวัดตรัง กรณีการตั้งเบิกฎีกา ในระบบ GFMIS จากงบกลางเป็นค่าการศึกษาบุตร โดยไม่มีเอกสารประกอบการเบิก แล้วเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต
ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มติว่าการกระทำของ นายประยูร หนูสุก และ แน่งน้อย มากมูล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือ รักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริต ยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยด้วยว่า วงเงินทุจริตแม้จำนวนไม่มาก หลักหมื่นบาท แต่ในการทำงานของส่วนราชการ กลับปล่อยปละละเลย ที่เป็นอำนาจหัวหน้าส่วนไม่ได้ดำเนินการเอง โดนเมื่อเดือน ส.ค.2559 ระบบราชการการเบิกจ่ายภาครัฐ ผ่านระบบ GFMIS มี 3 ส่วน หรือกุญแจ 3 ตัว คือ 1.ผู้เข้าดำเนินการขอเบิก 2.หัวหน้าฝ่ายจะมีหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการ และ 3.หัวหน้าส่วน กรณีนี้คือวัฒนธรรมจังหวัด เรื่องนี้กลับปล่อยให้ลูกจ้างดำเนินการทั้งหมด
ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นขอเงินการศึกษาบุตร 75,000 บาท ยื่นไม่มีเอกสาร หรือยื่นเพื่อเบิกค่าการศึกษาบุตรอันเป็นเท็จ และเบิกค่าเช่าบ้านอีก 25,000 บาท
วิธีการลูกจ้างให้เจ้าหน้าที่ออกเช็ก และใช้ปากกาที่ลบได้ แล้วแก้จำนวนเงินใหม่ เป็น 111,000 บาท นำเข้าบัญชีตัวเอง แล้วเบิกเงินไปมอบให้วัฒนธรรมจังหวัด
กรณีนี้ นอกจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 192 และมีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85
ส่วนการกระทำของ นางยินดี บริพันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และ นางสาวศรัญญา สิงห์นุ้ย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มติเสียงข้างมาก ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าได้กระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา
ขณะที่การกระทำของ นางเนตรนภา กุลัตถ์นาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และ วิยะดา ไชยไธสง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับความผิดทางวินัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง นางยินดี บริพันธ์ และ นางศรัญญา สิงห์นุ้ย มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 85
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง ได้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายประยูร หนูสุก นางแน่งน้อย มากมูล
และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับ นายประยูร หนูสุก นายยินดี บริพันธ์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว