เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ออกหมายจับ นายอิทธิพล ดวงเดือน กรรมการผู้จัดการบริษัทพลวิศว์ เทค จำกัด (ผู้ชนะการประมูล) และ นายสุรพงษ์ ตรียานนท์ กรรมการบริษัท เอ็กซ์ ทู ที อินดัสตรี จำกัด (คู่เทียบประมูล) ในการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ของ อบจ.สงขลา ในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม และ ฮั้วประมูล เป็นเหตุให้ อบจ.สงขลา ได้รับความเสียหาย
ก่อนหน้านี้ ศาลฯ ได้ออกหมายจับแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 แต่ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
โดยพบว่า นายอิทธิพล ดวงเดือน และ นายสุรพงษ์ ตรียานนท์ ได้เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ประเทศจอร์เจีย และเดิมคดีได้ขาดอายุความเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
การออกหมายจับใหม่แบบไม่มีอายุความนี้ สืบเนื่องจาก พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2554 ฉบับที่ 2 มาตรา 74/1 กำหนดไว้ว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนีระหว่างถูกดำเนินคดีนั้น ไม่ให้นับระยะเวลาหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ มีผลให้คดีดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความแล้ว
สำหรับ นายอิทธิพล ดวงเดือน นั้น ยังเป็นกรรมการบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ผู้ชนะการประมูล การจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางของ อบจ.สงขลา ที่นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา ในขณะนั้น ไม่อนุมัติจ่ายเงินให้
เนื่องจากนายนิพนธ์ ได้ตรวจพบการกระทำความผิดของกลุ่มเอกชนดังกล่าว และได้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มเอกชนที่ร่วมกันฮั้วประมูล และศาลฯ ได้ออกหมายจับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประมูลทุกรายในที่สุด
คดีนี้เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่าเหตุใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงยังพยายามที่จะดำเนินคดีกับนายนิพนธ์ ที่ไม่อนุมัติจ่ายเงินให้ผู้ชนะการประมูล ทั้งๆ ที่นายนิพนธ์ ได้พยายามชี้แจงมาโดยตลอดว่า สาเหตุที่ไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ชนะการประมูลได้นั้น เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจพบการกระทำที่ผิดกฎหมายในการประมูลจัดซื้อ
คือ มีการปลอมเอกสารและฮั้วประมูล และบัดนี้ศาลอาญาทุจริตฯ ภาค 9 ก็ได้ออกหมายจับผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งที่ 1-2 ทุกรายแล้ว