วันนี้ (31 ส.ค.65) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ป.ป.ช.ได้ชี้มูล นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ปี 2556 (ฉบับสุดซอย)
เหตุเพราะประธาน ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำตามระเบียบ เนื่องจากไม่ขอมติที่ประชุมสภา และไม่ทำหน้าที่ส่งร่างหลังถูกทักท้วงว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.การเงิน ที่ต้องมีการจ่ายค่าชดเชย จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติโดยมิชอบ ซึ่งกฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดโทษให้มีความผิดทางอาญา ขณะนี้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่ได้สั่งฟ้อง
นอกจากนี้ยังชี้มูล ความผิด นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์ รอยซ์ สำหรับเครื่องบิน 6 ลำ เมื่อปี 2547-2548 กรณีมีการเร่งรัดให้มีการจัดซื้อ ไม่ทำตามระเบียบ และมติที่ประชุมกรรมการบริหารนโยบาย แม้ไม่ได้พบว่ามีเรื่องรับผลประโยชน์ แต่ทำให้การบินไทยได้รับความเสียหาย เพราะไม่ทำตามระเบียบและไม่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดที่รับผิดชอบ เบื้องต้น เรื่องยังอยู่ที่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งอัยการสูงสุด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ นางกนกวรรณ วิลาวัณย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากการเดินสำรวจและออกโฉนดไม่ชอบอีก 3 แปลง เป็นการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เบื้องต้นได้ส่งให้อัยการสูงสุดและอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องแล้ว 2 แปลง และออกหมายจับด้วย
เลขาธิการป.ป.ช.กล่าวอีกว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายนวพล บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา กับพวก กรณีดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพประชาชน โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เอื้อประโยชน์ให้สถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.ฮั้วปี 2542 รวมทั้งมีการชี้มูลสถานพยาบาล ฐานให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด
ขณะเดียวกัน ยับชี้มูล นางรัชนี พลซื่อ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด กับพวก กรณีทุจริตโครงการจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอนแจกโรงเรียน ปี 2548-2551
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบเสาไฟกินนารี อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ขณะนี้ ป.ป.ช.ภาค 1 ตั้งคณะกรรมการไต่สวน แต่การจัดซื้อจัดจ้าง กระทำในหลายปีงบประมาณ บางครั้งเป็นกรณีของการซ่อมบำรุง ซึ่ง ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบเป็นกรณี
ส่วนที่ศาลให้ความคุ้มครองและให้ นายก อบต.ที่ป.ป.ช.ชี้มูล เข้ามาปฎิบัติหน้าที่ได้นั้น ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ป.ป.ช.ได้แจ้งเตือนไปแล้ว หากเกิดความผิดอีกจะอ้างไม่รู้ไม่ทราบไม่ได้ ซึ่งอำนาจในการยับยั้งการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องของสภาท้องถิ่น