ป.ป.ช.ฟัน “มานพ ศรีผึ้ง”ส.ส.นครสวรรค์ ภูมิใจไทย คดีขออุดหนุนทีมบอล 19.5 ล้าน

09 ส.ค. 2565 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2565 | 19:27 น.

ป.ป.ช.ชี้มูลผิด “มานพ ศรีผึ้ง” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “นายกอบจ.นครสวรรค์” ปมขอเงินกว่า 19.5 ล้านบาท อุดหนุนทีมฟุตบอล

วันนี้(9 ส.ค.65) สำนักข่าวอิศรา รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาแก่ นายมานพ ศรีผึ้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครสวรรค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ส.ส.นครสวรรค์ เขต 4 พรรคภูมิใจไทย และ นายจิรศักดิ์ ส่งศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดนครสวรรค์  

 

ในคดีการขอรับเงินอุดหนุนจาก อบจ. ตามโครงการเตรียมตัวนักกีฬาและเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชายสู่มาตรฐานกีฬาระดับสูง ประจำปี 2555 เป็นจำนวนเงิน 9,500,000 บาท  และโครงการส่งเสริมพัฒนาฟุตบอลชายสู่มาตรฐานกีฬาระดับสูง ประจำปี 2556 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้รัฐเสียหายเป็นเงินรวมกว่า 19,500,000  บาท 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว ต้องขอตรวจสอบก่อน


สำนักข่าวอิศรา อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า คดีนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้สรุปผลการไต่สวนเป็นทางการแล้ว เห็นว่า นายมานพ ศรีผึ้ง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกอบจ.นครสวรรค์ ผู้ถูกกล่าวหา รายที่ 1  มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น 

ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151  มาตรา 152  และมาตรา 157 

 

และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 127/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 


เห็นควรส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อไป ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91(1)  


นอกจากนี้ ยังมีมูลความผิดกรณีพ้นจากตำแหน่ง ฐานเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทำการเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น เป็นคู่สัญญาหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น หรือที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นจะกระทำ และฐานเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540  และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44/ 3 (3) และมาตรา 79 


แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจอีก โดยเห็นควรแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทราบ 


ส่วน นายจิรศักดิ์ ส่งศิริ  ผู้ถูกกล่าวหา รายที่ 2  มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น 


เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 11 และ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตบัญญัติประกอบรัฐธรนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 129/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91


อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถือว่าเป็นกระบวนการชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาจึงยังถือว่าบริสุทธิ์ และมีสิทธิต่อสู้คดีในชั้นอัยการ และชั้นศาลต่อไป