‘อภิสิทธิ์’ ฟาดการเมืองแย่ ท่ามกลางวิกฤต

08 ก.ย. 2565 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 10:33 น.

"อภิสิทธิ์" ฟาดการเมืองแย่ ท่ามกลางวิกฤต ความปั่นป่วนในสภาคือความจงใจของ รธน.60 เป็นประชาธิปไตยไม่จริงหากยังมี ม.272 อำนาจเลือกนายกของ สว.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จัดสัมมนา ไทยแลนด์ 66 พลิกโฉมสู่ความยั่งยืน “อภิสิทธิ์” ระบุ โชคร้ายของประเทศไทยที่การเมืองต้องเข้มแข็ง แต่กลับทำไม่ได้เลย ที่ไทยศูนย์เสียความสามารถในการแข่งขันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ  ซึ่งเป็นความท้าทายของไทย แม้ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ประเทศไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสงครามซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมาเกิดในยุคนี้อีก


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

ไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง  

โครงสร้างต้องไปกับอำนาจทางการเมือง "ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพราะปัจจุบันโครงสร้างไม่สอดกับสภาวะแวดล้อมของโลกและความท้าทายที่เกิดขึ้นมา โชคร้ายของไทยที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่การเมืองต้องเข้มแข็ง แต่กลับทำไม่ได้เลย ปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของบางกลุ่มอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาบางประการ ความวิตกกังวลว่า การเมืองจะเข้มแข็งจนเกิดการทุจริต แต่กลับสร้างความวุ่นวายคือความจงใจของรัฐธรรมนูญ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า “รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเพราะวิตกกังวลว่าการเมืองจะเข้มแข็งจนเกิดการทุจริตคอรัปชั่น ถ้าปล่อยให้ฝ่ายการเมืองมีบทบาทสำคัญก็จะไม่จบ”

 

การหลุดออกจากปัญหา

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากจะให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้นั้น จะต้องมีการปลดล็อก หรือคลายปมปัญหาความขัดแย้ง คือ ม. 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดบทเฉพาะกาล ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 กำหนดเท่านั้น ที่แม้ ตอนนี้ทางสภาฯ ไม่ผ่านให้เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 ที่ผ่าน ทั้งที่ ตรงนี้เป็นจุดที่ง่ายที่สุด ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากวันนี้ถึงกลางปีหน้า และมีการเลือกตั้งประเทศก็จะเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะก็จะติดอยู่กับมาตรานี้    

 

ทุกอย่างมีปัญหาแต่ รธน. ต้องเป็นที่ยอมรับ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต่างชาติไม่ได้มองว่าไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย ดูได้จากการเชิญไปประชุมเรื่องประชาธิปไตยโลกที่ผ่านมา ไม่มีชื่อประเทศไทย รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ยอมรับ กติกาสูงสุดต้องเป็นที่ยอมรับก่อน วิธีการที่ดีที่สุดคือกลับไปทำประชาพิจารณ์ ในโลกการที่จะมีการเลือกตั้งก็น่าจะทำไปพร้อมๆ กันได้ ถามประชาชนว่าต้องการหรือไม่ หากเห็นด้วยก็ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนักการเมืองที่ตนเองเลือก ที่สำคัญต้องไม่ปฎิเสธการเข้าสู่อำนาจแบบประชาธิปไตยสากล หากกังวลเรื่องการทุจริต ก็ต้องมีกลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ ให้องค์อิสระเป็นกลางซึ่งต้องทำให้เกิดขึ้น 

 

 

ทุกคนช่วยกันเขียนอนาคตประเทศไทย

“ผมยังยืนยันความเชื่อว่า ไม่มีใครเขียนบทว่าอะไรจะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ สิ่งที่ต้องทำ คือ เราทุกคนต้องช่วยกันเขียน ถ้าอยากขจัดความขัดแย้ง ต้องช่วยกัน ส่งสัญญาณไปผู้มีอำนาจว่าหมดเวลาหรือยังที่จะรักษาอำนาจเพื่อมีอำนาจ แล้วปล่อยให้ประเทศสังคมเดินไปเอง ควรสนับสนุน การเลือกตั้งครั้งหน้าให้มีการประชามติ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ทุกคนยอมรับ และช่วยกันคิดต่อว่า เราจะไม่เดินซ้ำรอยกับการเมืองที่ผิดพลาดในอดีตอย่างไร และช่วยกัน ขณะที่ สื่อมวลชน สร้างเวทีให้ถกเถียงด้วยเหตุผล และทุกคนฝึกตนเองมากขึ้นในการยอมรับ สนทนาแลกเปลี่ยนด้วยเหตุและผล เพราะมนุษย์ไม่เหมือนกัน ไม่มีใครถูกทุกเรื่องทุกคนแลกเปลี่ยนกัน ถ้าทำได้จะไม่ได้รอข่าวดีขากไหน ทุกคนจะเป็นข่าวดีเอง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล

ความเหลื่อมล้ำต่ำ SMEs จะเจริญขึ้น 

นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติดและที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนคร กล่าวถึง การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ พันธนาการของ SMEs โดยระบุว่า ความเหลื่อมล้ำกับ SMEs มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยิ่งความเหลื่อมล้ำมากก็จะเกิดปัญหาต่อการเติบโตของ SMEs มาก ความเหลื่อมล้ำต่ำ SMEs จะสามารถเจริญรุ่งเรืองได้มาก ในเวทีโลกจึงให้ความสำคัญกับ SMEs มากขึ้น มีเครือข่ายของ SMEs ให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย

ในปี 2566 ปัญหาที่ SMEs ต้องเผชิญ ได้แก่ การยกเลิกกิจการ ข้อมูล ม.ค. – มิ.ย. 2565 จำนวนกว่า 6,006 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% ภาระต้นทุนทางการเงิน และวัตถุดิบสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ สภาพแวดล้อมในการประกอบการไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของ SMEs (ถ้าไม่ทำอะไรในวันนี้) และผู้นำที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำกับ SMEs ในระบบเศรษฐกิจ สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อ SMEs และระดม 4 ส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน หากไม่มี ความเหลื่อมล้ำจะมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจบโควิด-19 รายใหญ่จะกดทับรายกลางและรายเล็กรุนแรงขึ้น เกิดปัญหาเศรษฐกิจภายในไม่ว่าจะเติบโตหรือถดถอยก็ตาม

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

 

เศรษฐกิจไทยลุ้นอานิสงส์อาเซียนบูม

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานสภาตลาดทุนไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566:  วิกฤตและโอกาส สู่ความยั่งยืน ว่ามองจากพัฒนาการของวิกฤตนับจากเวลาการสุกงอมของปัญหาและกลไกตลาด ในปี 2566 จะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เกิด Recession มาแน่ ๆ ขณะเดียวกัน ก็อาจจะเริ่มต้นของ EM Crises ซึ่งเมื่อดูแล้วเป็นเรื่องยากที่เงินเฟ้อจะลงมาทั้งหมด จะเข้าเป้าก็น่าจะปี 2567-2568 ไปแล้ว Fed ก็ยังต้องต่อสู้ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ถึงจะเข้ามาสู่ช่วงสาม และกว่าคิดถึงในช่วงของการลงดอกเบี้ยอีกรอบ น่าจะเป็นช่วงปลายปี 2567 ฉะนั้น เมื่อถามว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 เป็นเช่นใด ก็จะอยู่ในช่วงสอง ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ เงินเฟ้อเริ่มลดลง นี่คือวิกฤตที่จะหมุนไป

 

นายกอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ยังมีข่าวที่ประเทศไทยจะได้อานิสงส์จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบนี้ เนื่องจากทำเลที่ตั้ง เพราะปีหน้าภาวะเศรษฐกิจอาเซียนเติบโตดี คาดว่าจะเป็นที่นิยมของนักลงทุน เป็นทั้งแหล่งหลบภัยและลงทุนเพิ่มอย่างคึกคักแห่งหนึ่งของโลก