ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายรับทราบรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. กับคำถามคาใจของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นสองมาตรฐาน
เช่น กรณีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดจริยธรรมร้ายแรง จากการครอบครองที่ดินสปก. ซึ่งค้างอยู่ในการพิจารณาของป.ป.ช.มาถึงเกือบ 2 ปีแล้ว แต่บางกรณีกลับทำอย่างรวดเร็ว ทั้งที่การทำงานควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน ควรจะมีความรวดเร็วเดียวกัน และคำสั่งศาลก็ชัดเจนแล้วว่า กรณีเดียวกัน ควรจะมีมาตรฐานเดียวกันในการทำงาน อย่างเช่น กรณี นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ที่มีปัญหาครอบครองที่ สปก. มีการชี้มูลส่งศาลฎีกา จนมีคำพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่มี ส.ส.อีกหลายท่านมีปัญหาเรื่องนี้ เป็นกรณีเดียวกัน เหตุใดป.ป.ช. ยังไม่ทำเรื่องนี้อีก
“จะมีปัญหาหนักมากหากว่าเราล่าช้า เพราะความล่าช้าคือความอยุติธรรม ป.ป.ช.ต้องเข้าใจด้วยว่า คนเหล่านี้กำลังก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ หากมีการชี้มุลความผิดล่าช้า จนคนเหล่านี้ได้เข้าสภาแล้วต้องมาเลือกตั้งใหม่ ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก
จึงขอให้ ป.ป.ช. ช่วยดูเรื่องนี้ให้ชัดเจน ช่วยดูกฎหมายเรื่องนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ ให้ ส.ส.ถูกฟอกตัวให้เป็น ส.ส.ที่สะอาด และเป็นที่เชื่อมั่น เป็นที่เชื่อใจให้กับประชาชนได้ เพราะคุณสมบัติพื้นฐานของ ส.ส.เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเริ่มต้นด้วยการรุกป่า ถ้าเริ่มต้นด้วยการประพฤติมิชอบ ก็ไม่ควรจะเป็นตัวแทนประชาชน ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสภา เสื่อมศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย”
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ทำโครงการชื่อว่า สตรอง จิตอาสา ว่า โครงการนี้เป็นโครงการทางการเมืองใช่หรือไม่ และสมมติว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คนที่เกี่ยวข้องทางการเมือง เป็นผู้ช่วย ส.ส. เป็นที่ปรึกษา ส.ส. สามารถเป็นประธานชมรมนี้ได้หรือไม่ ป.ป.ช. มีหลักการในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนี้อย่างไรบ้าง
“ถ้ามีผลประโยชน์อยู่แอบแฝง ในการตรวจรับผลประโยชน์ทางการเมืองที่มันเชื่อมกัน หาก ป.ป.ช.ไม่เคยตรวจสอบ ก็ขอส่งเอกสารให้ ป.ป.ช.นำไปตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ตนอยากให้การเมืองของประเทศไทยเป็นที่มุ่งหวังของประชาชน อยากให้สภาเป็นที่เชื่อมั่นเป็นที่ศรัทธา ขอให้กฎหมายนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายใต้รัฐธรรมนูญทุกคน อยู่ใต้กฎหมายและได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน”