วันที่ 18 กันยายน 2565 พรรคไทยสร้างไทย โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคดร.สมชาย เวสารัชตระกูล รองเลขาธิการพรรค และว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขตสายไหม และดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม จัดโครงการ “ไทยสร้างไทยสู้ภัยน้ำท่วม” มอบข้าวสาร อาหารแห้ง ให้กับพี่น้องประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ที่ชุมชนเพิ่มสินถมยา ซอย เพิ่มสิน 1 และหมู่บ้านเอื้ออาทรบางเขน (คลองถนน) บ้านเอื้ออาทรคลองถนนบางเขน
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทย จัดโครงการ “ไทยสร้างไทยสู้ภัยน้ำท่วม” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแค่กรุงเทพฯ แต่รวมถึงภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งได้มอบหมายให้ทีมไทยสร้างไทยในแต่ละพื้นที่ เพื่อดำเนินการเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
โดยในวันนี้ เป็นการมาเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่เขตสายไหม ซึ่งพรรคไทยสร้างไทย ให้ความสำคัญกับทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน จึงมีนโยบายดูแลตั้งแต่เกิดจนแก่ เพื่อให้คนไทย “แข็งแรงก่อนป่วย รวยก่อนแก่” ด้วยการต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบาย 30 บาทสุขภาพดีถ้วนหน้า นโยบายปฏิรูปการศึกษาเรียนฟรีมีคุณภาพจนถึงปริญญาตรี และนโยบายบำนาญประชาชนเดือนละ 3,000 บาท
ทั้ง 3 นโยบายไม่ใช่โครงการประชารัฐประชานิยม ที่มามุ่งแจกเงิน แต่เป็นนโยบายที่สร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน
ด้าน น.ต.ศิธา กล่าวว่า ได้รับร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนชาวสายไหมว่าตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เป็นต้นมา น้ำท่วมครั้งนี้ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนชุมชนริมคลอง ที่ไม่คาดคิดว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในบ้าน จึงไม่ได้เตรียมการขนย้ายข้าวของ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพฯ มีจำนวนคลองเยอะมาก มีคลองยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร ซึ่งหากสามารถใช้คลองระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นโอกาสที่ดีของคนกรุงเทพฯในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยพื้นที่เขตสายไหมมีคลองกว่า 30 คลอง ซึ่งในยุคคสช.ได้มีการการขยายคลองจาก 19 เมตร เป็น 38 เมตร แทนที่จะช่วยเรื่องการระบายน้ำไม่ให้ท่วมบ้านเรือนประชาชน แต่กลับเป็นแหล่งน้ำเน่าที่ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม โดยไม่สามารถระบายน้ำหรือใช้ประโยชน์อื่นใดได้ แถมยังส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านมากขึ้น
น.ต.ศิธา ยังได้ฝากถึง ผู้ว่าฯ กทม. ถึงการบริหารจัดการน้ำว่าท่านผู้ว่าฯได้ทุ่มเททำงานให้คน กทม.เต็มที่ และพี่น้องประชาชนก็ได้สนับสนุนให้ผู้ว่าเข้ามาทำงานกันอย่างท่วมท้น ตนเชื่อว่าผู้ว่าจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วม จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนในการไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง การประสานงานกับหน่วยงานข้างเคียงเช่นกรมชลประทาน รวมถึงความร่วมมือจากข้าราชการ กทม.
“ผมได้เคยเสนอให้มีการทดสอบระบบ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และให้มีการพร่องน้ำในลำคลองต่างๆ ทันที่ที่ได้รับการพยากรจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะมีฝนตกหนัก แต่ทาง กทม.อาจจะไม่เห็นด้วยกับตรงจุดนี้ เพราะเกรงว่าตลิ่งจะพัง ซึ่งตน เห็นว่าควรจะต้องซ่อมแซมให้ตลิ่งไม่พัง เมื่อมีการพร่องน้ำ เพื่อที่จะทำให้คลองเป็นประโยชน์ และโอกาสของคนกรุงเทพฯในการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งต้องยอมรับว่ามวลน้ำในครั้งนี้มีปริมาณมาก ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกทม.เป็นหน่วยงานเดียว” น.ต.ศิธา ระบุ